หลายคนอาจเคยได้ยิน “โพรไบโอติกส์” และ “พรีไบโอติกส์” ซึ่งความแตกต่างของทั้งสองตัวนี้ รพ.บำรุงราษฎร์ อธิบายไว้ว่า “โพรไบโอติกส์” (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตชั้นดีขนาดเล็กพบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ เป็นต้น ทานแล้วทำให้สุขภาพดี สามารถจับที่ผิวเยื่อบุลำไส้ ผลิตสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้
ขณะที่ “พรีไบโอติกส์” (Prebiotics) คือ อาหารชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ที่ลำไส้เล็ก อาหารเหล่านี้จึงสามารถเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้ในรูปไม่เปลี่ยนแปลง และจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรีย “โพรไบโอติกส์” ทำให้กระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรีย พบได้ในหัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ไฟเบอร์ในผักและผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น
“กล่าวง่ายๆ ก็คือ “พรีไบโอติกส์” เป็นอาหารของ “โพรไบโอติกส์” นั่นเอง ดังนั้น หากรับประทานอาหารพวกพรีไบโอติกส์ก็จะช่วยส่งเสริมฤทธิ์โพรไบโอติกส์ได้ดียิ่งขึ้น”
สินค้าโพรไบโอติกส์โตต่อเนื่อง
ตลาดผลิตภัณฑ์ โพรไบโอติกส์ เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 ตลาดผลิตภัณฑ์มีมูลค่ากว่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการบรรเทาอาการ หรือรักษาโรคหรืออาการในระบบทางเดินอาหาร แต่ในอนาคตคาดการณ์ว่า ตลาดจะใหญ่มากขึ้น เพราะเริ่มมีการศึกษาวิจัยประโยชน์ของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง เช่น การเสริมภูมิคุ้มกัน ควบคุมน้ำหนัก เสริมสมรรถนะหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงปรับอารมณ์ ลดซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ออกมาว่า โพรไบโอติกส์ที่มีส่วนผสมของ Lactobacillus rhamnosus GG (LGG) มีส่วนช่วยป้องกันการเกิดอาการหลังโควิด หรือ post covid syndrome
“ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว” หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากปัจจุบันคนเจ็บป่วยง่าย อาหารเป็นยา จึงจำเป็นต้องส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง สิ่งที่เป็นประโยชน์คือ พืชผักสมุนไพร ซึ่งหากนำมาทำเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นทางเลือกที่คนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่ง “โพรไบโอติกส์” จะเป็นเทรนด์ของโลก เพราะตัวเชื้อในอาหารจะช่วยเรื่องระบบขับถ่าย และยังมีงานวิจัยช่วยเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีการศึกษาวิจัยอาหารเพื่อช่วยโรคซึมเศร้าอยู่ขณะนี้
“ในต่างประเทศให้ความสนใจเรื่องนี้มาก อย่างเกาหลี มีกิมจิ ซึ่งเป็นอาหารที่มีการศึกษาว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก มีศูนย์วิจัยเฉพาะเรื่องนี้ ดังนั้น หากประเทศไทยหันมาทำเรื่องนี้ก็จะช่วยให้อาหารไทยมีคุณค่ามากขึ้น จึงนำมาสู่การศึกษาวิจัยอาหารที่จะเข้าไปทำให้ให้เชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้เจริญเติบโตดี หรือที่เรียกว่า “พรีไบโอติกส์” ซึ่งในผักดองของไทยมีตัวนี้ แต่ไม่มาก”
ประโยชน์ พรีไบโอติกส์
สำหรับประโยชน์ของ “พรีไบโอติกส์” ในทางเดินอาหารนั้น ประกอบด้วย
1.ช่วยย่อยอาหาร จุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร ช่วยย่อยสารอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ หรือย่อยได้ไม่หมด
2.ผลิตวิตามิน เช่น วิตามินบี1 บี2 บี3 วิตามินอี วิตามินเค กรดแพนโทเทนิก และกรดโฟลิก เป็นต้น หากขาดแบคทีเรียเหล่านี้อาจทำให้เราขาดวิตามินได้
3. กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ส่งผลให้การขับถ่ายอุจจาระดีขึ้น ไม่มีอุจจาระตกค้าง ย้อนกลับมาเป็นพิษกับร่างกาย
4.ยับยั้งเชื้อก่อโรค โดยการผลิตกรดแล็กติกเพื่อป้องกันการสัมผัสระหว่างเชื้อก่อโรคกับผนังลำไส้ รวมถึงแบคทีเรียอื่นที่เข้าสู่ร่างกาย ตามช่องทางต่างๆ เช่น มากับอาหาร
5. เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานตรวจจับเชื้อก่อโรคได้ดีขึ้น และหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ลดลง
9 พืชผัก พรีไบโอติกส์สูง
ที่ผ่านมา จึงมีการเก็บตัวอย่างพืชผัก 52 ตัวอย่าง ที่วางขายในตลาดมาสกัดแล้วตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า มี 9 ชนิดที่มีช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดีมาก ได้แก่ เม็ดบัว กลอย ขมิ้นขาว ขิงแก่และขิงอ่อน หอมแดง ลูกยอ กระเจี๊ยบเขียว ข่า และตะไคร้ รองลงมา คือ มันมือเสือ มันแกว กระจับ ผักปลัง กระเจี๊ยบแดง บวบ หัวปลี มะละกอ ราก/ไหลบัว หัวไชเท้า ฟักทองและหอมหัวใหญ่
โดยการศึกษาได้นำมาทดสอบการเจริญเติบโตของเชื้อและนำมาสู่การพัฒนาเป็นเมนูอาหารรวม 100 ตำรับ โดยได้เลือกพืชผักที่มีคุณสมบัติความเป็นพรีไบโอติกส์ที่ดีมากมาปรุงอาหาร จากนั้น นำกลับไปทดสอบอีกครั้ง
โดยผลการทดสอบอาหารที่มีคุณสมบัติ พรีไบโอติกส์ ดีมาก คือ กระจับผัดพริกเผา ข้าวคลุกกะปิ ขนมผักกาด รองลงมา คือ ยำตะไคร้กุ้งสด ไก่หุงฟักทอง ปลาแนม กระเจี๊ยบเขียวชุบแป้งทอด ตะโก้แห้ว ส้มตำไทย รากบัวผัดน้ำปลา ขนมจีนแกงป่า หัวไชเท้าทอด และหลนเต้าเจี้ยว
กินโพรไบโอติกส์เวลาจำเป็น
อย่างไรก็ตาม การกินโพรไบโอติกส์ก็อาจไม่ได้ผลทุกราย โดยเฉพาะถ้าคนที่กินมีสุขภาพร่างกายที่ดีอยู่แล้ว อีกทั้ง การรักษาหรือป้องกันโรคยังมีจำเพาะกับชนิดของเชื้อด้วย เช่น lactobacillus pantalum ใช้รักษาโรคลำไส้แปรปรวน ดังนั้น ถ้าจะกินต้องเลือกให้ถูก และผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์มีราคาแพง การกินโพรไบโอติกส์ ควรกินเมื่อมีอาการ ที่มีงานวิจัยรองรับว่าเชื้อตัวดีชนิดนั้นๆ ใช้ได้ผล หรือมีอาการที่แสดงถึงเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ขาดความสมดุล
อาการเหล่านี้ ได้แก่ ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก ผิวหนังมีผื่นขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย แต่การกินเชื่อจุชินทรีย์ตัวดีเข้าไปก็อาจไม่ได้ผลทุกราย เพราะยังมีปัจจัยที่สำคัญ อยู่ 2 เรื่องคือ ระบบนิเวศของเชื้อในแต่ละคนแตกต่างกัน ด้วยพฤติกรรม พันธุกรรมที่มีมาแต่กำเนิด
ดังนั้น จึงนำมาสู่ความรู้พื้นฐาน ก็คือ การดูแลสุขภาพองค์รวม ได้แก่ การเคลื่อนไหวของลำไส้ ด้วยการออกกำลังกาย กาาเดิน ทำให้เชื้อดีเติบโตเพิ่มจำนวนได้ง่าย การนอนหลับที่เพียงพอ ไม่เครียด ซึ่งความเครียดทำให้เชื้อดีลดลง การกินอาหารที่เป็นอาหารของเชื้อดี ที่เรียกว่า “พรีไบโอติกส์” นั้นเอง
โพรไบโอติกส์ ใน “ผักดองไทย”
ถึงแม้ “โพรไบโอติกส์” มีแนวโน้มที่จะนำมาใช้รักษาโรคได้หลากหลาย แต่การนำมาใช้ในการรักษา ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย แต่หากในอนาคตหากเราสามารถตรวจได้ว่าในลำไส้มีเชื้ออะไรอยู่บ้างและมีตัวไหนน้อยหรือมาก ก็จะส่งเสริมให้นำมาใช้ได้ผล จริง แต่ในระหว่างนี้ อาจเลือกวิธีการดูแลสุขภาพ อาหารมาใช้ก่อน โดยเฉพาะพืชผักสมุนไพร
รวมทั้งอาหารหมัก ที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ในต่างประเทศต่างก็มีอาหารกลุ่มนี้ และมีการรวบรวมงานวิจัยอย่างเป็นระบบ พบ ประโยชน์จากอาหารหมักพื้นบ้าน ได้แก่ ต้านอนุมูลอิสระ ลดความดันโลหิต ช่วยให้เชื้อดี สร้างวิตามิน ย่อยโปรตีน ได้ดีขึ้น
ที่ผ่านมา รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เคยส่งผักดองให้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษา พบว่า ผักดอง 58 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างมีเชื้อดีอย่างน้อย 2 ชนิด ส่วนผักเสี้ยนดองและหัวหอมดอง พบเชื้อดีถึง 4 ชนิด ซึ่งในผักดองนั้น พบว่า มีทั้งอาหารเชื้อ คือ ผัก และเชื้อดีด้วย ทำได้เอง
https://ift.tt/netZpdq
อาหารสุขภาพ
Bagikan Berita Ini
0 Response to "รู้จัก "พรีไบโอติกส์" และ “โพรไบโอติกส์” มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment