ทั้งของใกล้ตัวอย่างเนื้อสัตว์ ไข่ ปลา น้ำมันพืช รวมไปถึงวัตถุดิบที่ต้องสั่งนำเข้ามาอย่าง แซลมอน ปูกระป๋อง ของทะเล อะไรต่างๆ นานา ที่ราคาแพงขึ้นเป็นเท่าตัว และหลายอย่างมีแนวโน้มว่า ราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด จนพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารหลายเจ้าถึงกระทั่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว หรือกระทั่งตลอดไป เพราะแบกรับภาระต้นทุนไว้ไม่ไหว นาทีนี้คงต้องยอมรับว่าเราได้ก้าวเข้าสู่ยุค “ข้าวยากหมากแพง” หรือ ภาวะวิกฤตขาดแคลนอาหาร กันแล้วจริงๆ
ไม่ใช่แค่ไทย ข้าวเหนียวลาวก็แพง กิโลละ 13,000 กีบ
เพื่อเตรียมตั้งรับมือกับปัญหา เราลองมาย้อนดูเมนูมัธยัสถ์ในอดีตกันดีกว่า ว่าในสมัยก่อน ช่วงหลังสงคราม โรคระบาด นั้นเค้าอยู่ยังไง กินอะไรกัน เผื่อว่าจะได้นำมาประยุกต์กับสถานการณ์ในช่วงนี้ได้บ้าง
ปัญหาด้านอาหารยามสงครามของแต่ละประเทศนั้น จะมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ บางประเทศทรัพยากรน้อย ก็ต้องซื้อจากประเทศอื่นเข้ามามาก และยิ่งในช่วงสงคราม โรคระบาด บางครั้งมีการปิดกั้นการคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม เรือขนส่งอาหารโดนโจมตี ราคาน้ำมันถีบตัวสูง อาหารบางส่วนต้องจัดเตรียมแบ่งสำหรับกองทัพ ผู้ผลิตน้อยลง ผู้บริโภคมากขึ้น ก็ทำให้เกิดภาวะขาดแคลน อย่างสถานการณ์ปัจจุบัน สงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้พื้นที่จะอยู่ห่างไกลจากไทย แต่ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย ทั้งอาหารคน อาหารสัตว์ วัตถุดิบบางอย่างหายากขึ้น ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ธัญพืชต่างๆ ก็สูงขึ้น ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่ออังกฤษปิดล้อมเยอรมันทางทะเล อาหารก็ร่อยหรอ เพราะปกติเยอรมนีนำเข้าอาหารจากชาติอื่นถึงร้อยละ 20 จึงทำให้ในสมัยนั้น เกิดอาหารเทียมที่เรียกว่า แอร์ซาตซ์ Ersatz ขึ้น อาหารเทียมในที่นี้ ก็คือการนำวัตถุดิบอื่นๆที่หาได้ง่าย และราคาถูกกว่ามาทำให้คล้ายของเดิมมากที่สุด จุดประสงค์หลักๆก็คือดำรงชีพ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้น บางครั้งก็อาจจะห่างไกลคำว่าอร่อยไปหน่อย เช่น ขนมปัง ที่เปลี่ยนจากแป้งสาลีมาใช้แป้งถั่วและถั่วลันเตาแทน
ถ้านั่นยังพอรับได้ ลองจินตนาการต่อไปว่าในสมัยนั้น ถึงขั้นมีการใช้ผงขี้เลื่อยผสมเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อขนมปังให้มากขึ้น อย่างเนื้อสัตว์เทียม (plantbased) ที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในสมัยนี้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยนั้น สเต็กจากพืช เคยถูกนำมาแทนที่เนื้อสัตว์ ที่หายากและแพง มีเนื้อวัวที่ทำมาจากผักโขม มันฝรั่ง และถั่วลิสงบดอัดรวมกันเป็นก้อน กระทั่ง ไข่เทียม ก็เคยมีมาแล้ว โดยทำมาจากข้าวโพดผสมมั่นฝรั่ง ไขมันที่ใช้สกัดมาจาก หนูนา หนูบ้าน หรือหอยทาก กาแฟเทียมทำจากลูกนัตอบปรุงรส (คล้ายๆกับบ้านเราที่ใช้เม็ดมะขามคั่วแทนเมล็ดกาแฟ) เมนู "บูเดชิเก" หรือหม้อไฟจากเกาหลีใต้ เริ่มขึ้นจากการเอา แฮม ฮอตดอก มักกะโรนี ที่ได้รับความช่วยเหลือมาจากกองทัพทหารอเมริกามาปรุงรวมกันในแบบแกงในหม้อ โดยเพิ่มพริกแกงเกาหลี รามยอน กิมจิและโคชูจังลงไป จนกลายเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมมาจนทุกวันนี้ ไทยเราเองก็มีช่วงยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ส่งเสริมให้คนไทยกินเส้นก๋วยเตี๋ยว ที่เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว มาเป็นเมนูกระตุ้นเศรษฐกิจ จนเป็นเมนูที่โด่งดังอย่างผัดไทย
แต่ถ้าวันนี้เรายังพอมีทางเลือกอยู่บ้าง เพื่อสุขภาพของเรา และด้วยสภาพเศรษฐกิจที่บังคับ ก่อนที่จะถึงขั้นต้องกินอาหารเทียม หรือเตรียมรับมือกับอาหารตัดแต่งพันธุกรรม ที่กำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่รู้ว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพเราในระยะยาวหรือไม่ เราลองหันกลับมาดูการกินอาหารตามวิถีของบรรพบุรุษของเรากัน อาหารพื้นเดิมแบบโบราณของไทยถูกออกแบบไว้ให้เหมาะกับสภาวะการณ์เช่นนี้มาก อาหารดั้งเดิมของเรา มีลักษณะหาง่าย ปรุงง่าย ไม่ต้องใช้น้ำมัน อย่าง ปลาย่าง ปลาแห้ง ข้าวกับพริกและเกลือ มะพร้าวขูดคั่ว ผักที่ปลูกขึ้นริมรั้ว หรือขึ้นเองตามธรรมชาติ การถนอมอาหารแบบไทยๆ ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เช่น ในสมัยก่อน เรามี "ข้าวตาก" ซึ่งเป็นนำข้าวสวยเหลือๆ ไปตากจนแห้งเก็บไว้ได้นานเป็นเดือน เวลาจะกินก็เทน้ำใส่ให้ท่วม รอเวลา สักพักก็กินได้ จะเอามากินกับไข่เค็มหรือ ผักที่ดองเก็บไว้ เพิ่มโพรไบโอติคก็ดี ขนมไทย ก็เป็นอะไรที่เข้ากับยุคสมัยนี้ มีแค่ แป้ง น้ำตาล กะทิ หัวเผือก มัน ฟักทอง กล้วย ก็เอามาทำเป็นขนมกินได้หลากหลาย เพียงเแต่ควรเลือกแป้งที่มาจากข้าวโม่ ใส่น้ำตาลไม่ผสม ใช้กะทิคั้นสดผสมน้ำใบเตยหอม และ กินในปริมาณที่พอเหมาะ ขนมแห้งๆ ของเราทำครั้งเดียว แต่เก็บไว้กินได้อีกนาน เช่น กะละแม ตังเม สัมปันนี ผลไม้แห้ง แช่อิ่มต่างๆ
ลองกลับมาสนุกกับการใช้วิถีไทย วัตถุดิบของไทย กินตามธรรมชาติ กินพืชผักพื้นบ้าน กินอาหารให้น้อยลง กินง่ายอยู่ง่ายมากขึ้น ไม่ใช่แค่ช่วยประหยัด แต่อาจเป็นผลดีกับสุขภาพเราในระยะยาวๆก็ได้ อาหารไทยแท้ๆ ที่เรากินกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายแบบบ้านๆ นี่แหละ ที่ช่วยปรับสมดุลและรักษาระดับคอเลสเทอรอลในร่างกายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกผักจิ้มริมรั้ว ต้มข่าน้ำใส แกงส้มผักรวมใส่ปลาน้ำจืด ยำผักพื้นบ้านน้ำปลาหวาน ปลาย่างน้ำพริกขี้กา แกงเลียง ส้มตำ และจานยำต่างๆ ล้วนเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่สมดุลทั้งนั้น เพียงแค่ปรุงรสไม่ให้หวานมาก ลดน้ำตาลที่ให้พลังงานสูง ลดโซเดียมที่อยู่ในบรรดาผงปรุงรสและซอสปรุงรสต่างๆ ลง ใช้สมุนไพรต่างๆ ที่มีกลิ่นหอมอโรมาที่ช่วยปลุกความกระปรี้กระเปร่า สดชื่น ทั้ง ข่า ขิง ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริกไทย พริกต่างๆ อย่างเช่น กระเทียมก็เป็นหนึ่งในวัตถุดิบ ที่มีฤทธิ์ช่วยป้องกันและช่วยสลายไขมันในเลือด ส่งผลให้ปริมาณคอเลสเทอรอลในร่างกายลดน้อยลง เพราะมีสารชื่อ อัลลิซิน หรือธัญพืชอย่างงาขี้ม่อน ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่เรียกว่า "ไขมันPUFA" และโอเมก้า3 โอเมก้า6 ช่วยในเรื่องลดคอเลสเทอรอลในร่างกายได้ดี เมนูเห็ดเห็ด ทั้งเห็ดเข็มเงิน เห็ดเข็มทอง เห็ดตับเต่า เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดฟาง เห็ดมิลกี้ เห็ดภูฎาน สารพัดสารพัน ก็ช่วยต้านอนุมูลอิสระ แคลอรี่ต่ำ การกินอาหารไทยไม่มีคำว่าเชย ดูอย่างกระแส Dash Diet หรือ Dietary Approches to stop Hypertension ที่กำลังเป็นที่นิยมในอเมริกาและหลายๆ ประเทศ ก็เป็นการกินตามแนวทางที่คล้ายกับการกินแบบไทยพื้นบ้านเรามาก คือกินตามหลักโภชนาการ ไม่ให้เกิน 2,000 แคลอรี่ในหนึ่งวัน และจำกัดโซเดียมให้ไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม ต่อวัน ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงได้แล้วยังช่วยลดน้ำหนักได้แบบระยะยาวอีกด้วย
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจไม่ช่วยเรื่องปัญหาของแพงได้เลย แต่อย่างน้อยเราจะยังมีสุขภาพที่ดี เพื่อรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ย้อนปรากฎการณ์ไข่แพงแต่ละรัฐบาลสู่ไข่ยุคประยุทธ์ดัชนีชี้วัดของแพง
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
อ่านบทความและอื่น ๆ ( กินอาหารตามวิถี ยุคข้าวยากหมากแพง - PPTVHD36 )https://ift.tt/YwRcyPx
อาหารสุขภาพ
Bagikan Berita Ini
0 Response to "กินอาหารตามวิถี ยุคข้าวยากหมากแพง - PPTVHD36"
Post a Comment