นาทีนี้นอกจากชื่อเสียงเรื่องร้านกาแฟ เชียงใหม่ยังเป็นที่รู้จักในฐานะสวรรค์ของคนรักวีแกนและมังสวิรัติ
ห่างจากตัวเมืองออกไปราว ๆ 1 ชั่วโมง ในอำเภอแม่แตง จำเนียร เอี่ยมเจริญ หรือผู้ใหญ่ใจดีที่ชาวไทยเรียก ‘ป้าตา’ ส่วนชาวญี่ปุ่นเรียกว่า ‘โอบะซัง’ เชฟอาหารมังสวิรัติวัย 66 ปี ผู้ที่ NHK สถานีโทรทัศน์อันดับหนึ่งของญี่ปุ่นเดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ เธอชวนเรามาร่วมชิมอาหารมังสวิรัติสำหรับถวายพระ ณ วัดสวนสุขใจ วัดแสนสงบที่แวดล้อมด้วยต้นไม้เขียวขจี ซึ่งเธอถวายที่ดินของตัวเอง 7 ไร่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสร้างวัดแห่งนี้ให้เกิดเป็นสาธารณประโยชน์แก่ชุมชน
“เราอยากคืนสมบัติให้กับโลก อยากให้เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ถ้าป้าเก็บที่ดินไว้ชื่นชมคนเดียวก็ไม่มีประโยชน์อะไร ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีค่าต่อเมื่อมีคนมาชื่นชมและใช้ประโยชน์”
หลังผ่านการพูดคุยกันอย่างยาวนานที่บ้านสวนของเธอ The Cloud พบว่า นอกจากป้าตาจะเป็นแม่ครัวที่คร่ำหวอดในวงการ เป็นพุทธศาสนิกชนที่ตั้งมั่นในธรรมะ เธอยังรักษ์โลก รักศิลปะ และรักการช่วยเหลือผู้คนเป็นชีวิตจิตใจ
นี่คือเรื่องราวจากกลางป่าเขาของ ป้าตา โอบะซัง ยอดเชฟอาหารมังฯ ผู้ซ่อนตัวอยู่กับธรรมชาติโดยปราศจากไฟฟ้าและน้ำประปา
แดนอาทิตย์อุทัย
แม้ป้าตาจะซ่อนตัวอยู่อย่างสงบ โชคชะตาก็นำพาฝีมือการทำอาหารมังสวิรัติของป้าไปโด่งดังไกลถึงต่างแดน ผ่านการส่งเด็กน้อยกลับบ้านเกิด
“มีเด็กญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ป้ารู้จักอยากกลับบ้านแต่ไม่มีเงิน ป้าก็เสนอว่าเดี๋ยวป้าจะพาไปทัวร์ญี่ปุ่น เธอมีเพื่อนอยู่ที่ญี่ปุ่นไหม เดี๋ยวป้าออกเงินให้ แล้วเราไปทัวร์ญี่ปุ่นด้วยกัน
“ป้าไปกับเพื่อน ๆ อีก 4-5 คน ช่วยกันลงขันแชร์ค่าใช้จ่าย แล้วป้าก็ได้มีโอกาสไปจัดกาดมั่วเล็ก ๆ ทำอาหารเจขายที่นั่น ป้าเอาวัตถุดิบที่เขามีอยู่แล้วมาประยุกต์ เช่น มิโซะ เราเอามาทำเป็นน้ำสมุนไพรหรือน้ำบูดู ทำข้าวยำบ้าง แล้วได้เงินมาก้อนหนึ่ง ไปออกงาน ลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ไปทอล์กโชว์ หลังจากนั้นก็เริ่มมีชื่อเสียง มีคนญี่ปุ่นติดต่อเข้ามาหาเรื่อย ๆ”
เธอเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเชฟชาวไทยชื่อดัง ขนาดที่ว่า NHK สถานีโทรทัศน์อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาสัมภาษณ์ และเรียนทำอาหารกับป้าตาถึงที่บ้านสวนสุขใจแห่งนี้
“ตอน NHK มาสัมภาษณ์ ป้าสอนเขาทำอาหาร ทำลิ้นจี่ลอยแก้ว แล้วเขาเอาสูตรน้ำลิ้นจี่ของป้าไปขายให้บริษัทคิริน กลายเป็นเครื่องดื่มขายดีมาก ถึงขั้นเขาเอารูปป้าไปออกแบบเป็นโลโก้ติดข้างขวด แล้วกลับมาถ่ายทำป้าชิมน้ำลิ้นจี่นี้ด้วย เพื่อไปทำโฆษณาฉายในญี่ปุ่น หลังจากนั้นป้าก็มีชื่อเสียง เขาถึงเรียกป้ากันว่า ป้าตา โอบะซัง”
กระนั้น ฝีมือปรุงอาหารระดับเทพของป้าตาก็ไม่ได้มาง่าย ๆ เธอลับคมเสน่ห์ปลายจวักนี้ตั้งแต่เด็ก โดยมีแม่เป็นครูสอนทำอาหารคนแรกในชีวิต
มีวันนี้เพราะแม่ให้
“แม่สอนทำอาหารมาตั้งแต่ป้าจำความได้ แม่ชอบทำบุญตักบาตร ทุกวันป้าต้องตื่นตี 5 เพื่อช่วยแม่ทำอาหาร ทั้งตำน้ำพริก หุงข้าว และป้ามีหน้าที่คอยยืนดูพระให้แม่ด้วย พอพระมาก็เรียกแม่ เป็นกิจวัตรประจำวันในวัยเด็กของป้า” เธอเล่าถึงแม่ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
“แม่ของป้าเป็นคนขยัน ถ้าถึงฤดูมะม่วง ป้าต้องเดินเท้าจากตลาดสำเหร่ไปที่วัดกัลยาฯ สมัยนั้นเรือสำปั้นจอดเต็มท่าน้ำหน้าวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่จะไปซื้อมะม่วงจากเรือ เลือกซื้อมะม่วงที่เป็นตำหนิเอามากวน กลับบ้านมาช่วยแม่ปอกและกวนมะม่วง เช้ามาก็ช่วยแม่ตาก พอตากแห้งเสร็จ ป้าก็ม้วนใส่กระดาษแก้ว เอาไปขายที่โรงเรียน ส่วนแม่เอาไปขายให้ชาวบ้าน
“แม่บริหารจัดการการเงินเก่งมาก ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ บางวันแม่ไปขายกล้วยเสร็จ ขากลับถ้ามีกล้วยเหลือ แม่จะหาบกลับบ้านจากวงเวียนใหญ่ถึงสำเหร่ แม่มักจะไม่กลับบ้านพร้อมหาบเปล่า ถ้าระหว่างทางเจอถุงพลาสติก กระดาษ หรือฟืน แม่จะเก็บใส่หาบกลับมา เมื่อมาถึงบ้าน ป้าจะช่วยแม่ล้างถุงพลาสติกเก่า มัดตากแห้งไว้ แล้วรัดไปชั่งกิโลขาย ส่วนวันไหนที่ได้กระดาษหรือกล่องมา แม่จะเอามาปูทับ ๆ กัน แล้วเอาไปชั่งกิโลขาย ส่วนฟืนแม่เก็บมาใช้หุงข้าว”
เธอเองก็ได้นิสัยนี้มาจากแม่เต็ม ๆ ที่เห็นอะไรแล้วก็เกิดประโยชน์ทั้งหมด ไม่ทิ้งของ เช่น ถ้ามีข้าวติดก้นหม้อ แม่ก็เอาน้ำแช่ไว้แล้วกรองใส่ตะแกรง ตากแห้ง เก็บเอาไปทำขนม ป้าตาจึงมักจะได้กินขนมไข่มด ข้าวตู ข้าวคั่วโรยมะพร้าวน้ำตาล
“ป้าชอบการแปรรูปของต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็ก ๆ โดยเฉพาะพวกของเหลือใช้ เพราะสมัยก่อนไม่ค่อยมีของเล่น” เธอว่าต่อ
“แม่ซื้อโจงกระเบนมาตัดเป็นผ้าถุง พอมีเศษผ้าเหลือ ป้าก็เอามาหัดเย็บใส่นุ่นทำเป็นตุ๊กตา ข้างบ้านเขาทำขนมตาลขาย ก็ขอเอาหัวตาลมาล้างทำความสะอาดจนกระทั่งเป็นสีขาว แล้วขูดให้เป็นใบหน้า เขียนรูปตา ถักเปีย ทำเป็นตุ๊กตา บางวันเดินทางไปเรียนหนังสือ ป้าเห็นกองขยะก็เข้าไปคุ้ยดูว่ามีอะไรให้เราเล่นได้บ้าง บางครั้งได้รองเท้าส้นสูง ลิปสติก ก็เอามาทาปากเล่นลิเกกัน”
หากจะเรียกป้าตาว่าเป็นนักรีไซเคิลและสาวรักษ์โลกรุ่นเก๋าก็คงไม่ผิดแปลกอะไร แต่ใครเล่าจะรู้ว่าอีกหลายสิบปีต่อมา ตุ๊กตาที่ป้าตาชื่นชอบจะนำพาหนี้หลักล้านมาให้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ IMF ที่เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตไปตลอดกาล
พืช – ล้ม – ลุก
“ชีวิตป้าผ่านอะไรมาเยอะ เรียนจบเลขา ทำงานบริษัททัวร์ อาชีพเสริมคือทำตุ๊กตาผ้า หัดจากหนังสือกุลสตรี เรียนรู้ด้วยตัวเองไปเรื่อย ๆ จนทำโรงงานตุ๊กตาส่งออกแล้วเจ๊ง ช่วงนั้นเกิดความโลภ แล้ววิกฤต IMF เข้ามาพอดี ทำให้ป้าขาดทุนหนัก กลายเป็นหนี้หลักล้าน ต้องเอาบ้านไปจำนอง เอาของไปจำนำ ชีวิตตั้งแต่สาวมามีแต่หนี้ เคยคิดว่าเมื่อไรจะพ้นหนี้สักที
“แต่การที่ป้าต้องเจอสภาวะยากลำบากแบบนั้น ทำให้ความทุกข์มันบีบคั้น ป้าจึงเริ่มศึกษาว่าชีวิตคนเราเกิดมาเพื่ออะไร ป้าก็ได้คิดได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง เริ่มปรับมุมมองความคิดใหม่ ถ้ารวยแล้วโง่ ขอไม่รวยดีกว่า ขออยู่อย่างมีบ้าง ไม่มีบ้าง
“ก่อนหน้านี้ตอนมีเงินเยอะ ๆ ป้าเรี่ยราดใช้หมด เป็นคนใช้เงินเละเทะ แต่เมื่อถึงเวลาไม่มี ได้เงินร้อยสองร้อยก็ดีใจมาก รู้สึกว่าชีวิตมันได้ลุ้นไปวัน ๆ มีรสชาติดี การมีเงินตลอดเวลาทำให้เราหลงระเริงเพลิดเพลินไปกับทรัพย์สมบัติ” อดีตนักธุรกิจสาวเล่าต่อถึงจุดเริ่มต้นการเป็นแม่ครัวแบบเต็มตัว
“การทำอาหารฝังอยู่ในสายเลือดของป้า” เธอย้ำถึงแม่ “ตุ๊กตามันกินไม่ได้ มาทำของกินขายดีกว่า”
หลังเจอพิษเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ป้าตาหันมาเปิดร้านข้าวแกงกับขนมจีนใส่หม้อดิน แน่นอนว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่าด้วยรสชาติถูกปากลูกค้า แต่แล้วป้าก็ตัดสินใจล้มเลิกกิจการ หันไปเข้าวัดปฏิบัติธรรมผ่านการทำอาหาร
“ลูกค้าหลายคนบ่นเสียดาย บอกว่ารวยก่อนแล้วค่อยเข้าวัดก็ได้ แต่เราบอกไม่เอา ฉันกลัวตายก่อนจะรวย ป้าก็ตัดสินใจเข้าวัดเลยดีกว่า
“พอหันไปเข้าวัดก็ได้อบรมปฏิบัติธรรมด้วยการทำอาหาร ไปเป็นแม่ครัวอยู่ที่วัด ทำกับข้าวเลี้ยงคนเป็นร้อย ๆ หลังจากนั้นก็เริ่มออกมาจัดงานข้างนอกบ้าง แต่ป้าก็ยังหมั่นไปวัด ทำความดี ฝึกภาวนา ฝึกตัวเอง
“เราเริ่มฉลาดในการใช้ชีวิตมากขึ้น รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร รู้จักการบริหารจัดการ ชีวิตที่ผิดพลาดมาก็เพราะเราบริหารจัดการไม่เป็น เราตามใจตัวเองด้วยอำนาจของกิเลส เมื่ออยากได้อะไร ก็ซื้อ ๆๆ จนเบื่อ พอเบื่อก็ทิ้งเป็นขยะเต็มบ้าน ตอนย้ายมาอยู่หลังบ้านนี้ ป้าแจกของให้คนอื่นไปเต็มสิบล้อ”
เล่นแร่ แปรรูป
พ.ศ. 2536 คือปีที่ป้าตาหันเข้าหาทางธรรมอย่างเต็มตัว เธอพบว่าครูบาอาจารย์ฉันมังสวิรัติเป็นปกติ จึงเริ่มกินและปรุงอาหารมังสวิรัติ
“มังสวิรัติคือการไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ทุกชนิด การแปรรูปอาหารของป้าอาจไม่เหมือนการแปรรูปอย่างโรงงานทั่วไป เราเอาเห็ดมาสับ ๆ แล้วก็ใส่พริกแกงผสมไข่บ้าง ใส่แป้งถั่วเขียว แค่นั้นเลย ป้าแปรรูปโดยไม่ผ่านกระบวนการสลับซับซ้อน ไม่ใส่ผงชูรส และคุณค่าอาหารก็ยังคงอยู่
“ป้ากินมังฯ มาหลายปีแล้ว ไม่รู้สึกอยากกินเนื้อสัตว์เลย แต่เราก็อยู่ร่วมกับทุกคนได้ เวลาไปเที่ยว ป้าก็หิ้วอาหารของป้าไป บางคนมาแย่งอาหารมังสวิรัติของป้ากินอีกต่างหาก ป้าไม่ได้รังเกียจคนที่กินเนื้อสัตว์ และไม่เคยคิดว่าคนกินเนื้อเบียดเบียนสัตว์ เรานั่งร่วมวงกับคนอื่นเขาได้ เขาอร่อยอาหารของเขา เราก็อร่อยอาหารของเรา”
หากถามถึงเคล็ดลับก้นครัวของป้าตา เธอบอกว่า “ป้าใช้ใจทำอาหารทุกอย่าง ประณีตและไม่ตระหนี่ อาหารเป็นเรื่องศิลปะ เวลาปรุงอาหาร ป้าหยิบใส่ แล้วจะออกมาอร่อยได้อย่างไร ป้ารู้ในตัวของมันเอง”
อาหาร 0 ดาว
อาหารมังสวิรัติของป้าตาไม่เคยได้รับดาวหรือป้ายการันตีความอร่อยใด ๆ แต่ฝีมือของเธอเป็นที่ร่ำลือ และเชฟชื่อดังหลายคนให้การยอมรับ พร้อมบอกเล่าปากต่อปาก
“ป้าทำอาหารมังฯ ได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแกงหรือต้ม บางคนกินอาหารของป้ายังไม่รู้เลยว่าเป็นมังสวิรัติ ส่วนใหญ่พอลองได้กินแล้วบอกอร่อยกว่าอาหารปกติอีก บางครั้งจิตใจคนเราพอรู้ว่าเป็นอาหารมังสวิรัติแล้วต่อต้าน อาจจะคิดว่าไม่อร่อย จริง ๆ เมนูเนื้อสัตว์ไม่อร่อยก็มี มันอยู่ที่ศิลปะการทำอาหารและการเลือกวัตถุดิบมาใช้มากกว่า
“ป้าไม่เคยคิดจะเข้าประกวดแข่งขันอะไร คิดแค่ว่าการทำดีไม่ต้องมีการประกวด มันเป็นเรื่องที่คนเขาศรัทธาและยอมรับกันเอง ป้าอยากทำอาหารที่คนกินไม่เสียความรู้สึก ทำด้วยความตั้งใจ คนอื่นกินแล้วสุขใจ เราก็ดีใจแล้ว”
ตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงในการพูดคุยกับป้าตา เรามักได้ยินเธอเปรียบเทียบการใช้ชีวิตกับการทำอาหารเสมอ
“การทำอาหารมังสวิรัติก็เหมือนทุกวันที่เราได้ทำความรู้จักและเรียนรู้มนุษย์” เธอว่า “คนเรามีทั้งดีและไม่ดีแตกต่างกันไป แต่เราจะเลือกเอาส่วนดีมาใช้ ส่วนไม่ดีก็เป็นเรื่องของเขา เหมือนที่เราต้องรู้จักเอาส่วนดีของวัตถุดิบมาปรับใช้กับเมนูของเรา
“บางอย่างมีรสเปรี้ยว ฝาด ขม บางอย่างโตอยู่ใต้ดิน ถ้าเราอยากจะทำกล้วยบวชชี นิสัยของกล้วยมีความฝาดและมียาง พอสุกแล้วอาจมีรสหวานอมฝาด แล้วเราต้องทำอย่างไร ก็ต้องเอามาต้มด้วยน้ำเย็นเสียก่อน ใช้น้ำเดือดก็ไม่ได้ เราต้องหมั่นสังเกตสิ่งเหล่านี้ และต้องเรียนรู้ศิลปะการจัดการธรรมชาติ”
“เช่นเดียวกับคนเรา ถ้าเจอคนนิสัยไม่ดี เราก็ต้องเอาน้ำเย็นเข้าลูบ และเรียนรู้ว่าคนนี้มีดีหรือไม่ดี เราควรจะคบแบบห่าง ๆ หรือใกล้ ๆ หรือถ้าคนนี้เป็นบัณฑิต เราควรเข้าใกล้เพื่อจะได้ศึกษาเรื่องต่าง ๆ ให้เขาถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้มาที่เรา”
ในอนาคตป้าตามีแผนจะเปิดบ้าน พร้อมปรุงและเสิร์ฟอาหารมังสวิรัติฝีมือตัวเองให้คนอื่นได้ลองชิมในบรรยากาศเรียบง่ายแสนสงบสุข แต่ออกตัวก่อนเลยว่า ที่นี่ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็นการมาเที่ยวสวนสุขใจของเธอ
“อยากให้ทุกคนได้ลองมาเรียนรู้วิถีชีวิตที่ไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปา ป้าจะสอนตั้งแต่การหุงข้าว การติดเตาด้วยฟืน พร้อมฝึกให้มีสติ สมาธิ ปัญญา ฝึกการแก้ไข ฝึกการสังเกต ฝึกการเคลื่อนไหว
“นอกจากนี้ ป้าจะสอนการเดินจงกรม การปฏิบัติธรรม การนั่งสมาธิ เพื่อเอามาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ถึงแม้ว่าป้าไม่ใช่นักบวชหรือแม่ชี แต่ป้าก็อยากถ่ายทอดในสิ่งที่ป้ามีอยู่ให้กับทุกคน เพราะในอนาคตบ้านเมืองของเรายิ่งเจริญมากขึ้น คนยิ่งมีความทุกข์มากขึ้น
“เมื่อเราฝึกสิ่งเหล่านี้ในทุกวัน ๆ จะทำให้เรามีสติ อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยของการสร้างอนาคต เราจะไม่ตกใจกลัวแม้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม เราจะอยู่ด้วยความมั่นใจในตัวเอง” ป้าตาทิ้งท้าย
https://ift.tt/l7OWVIZ
มังสวิรัติ
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ป้าตา โอบะซัง เชฟวัย 66 ผู้อุทิศชีวิตให้อาหารมังสวิรัติและธรรมะกลางป่าโดย ... - The Cloud"
Post a Comment