Search

รายงานพิเศษ - แนวโน้ม'10 อุตสาหกรรม'ส่อฟื้นตัว อาหาร-สุขภาพ-รถยนต์-เครื่องสำอาง - ข่าวสด - ข่าวสด

แนวโน้ม‘10 อุตสาหกรรม’ส่อฟื้นตัว
อาหาร-สุขภาพ-รถยนต์-เครื่องสำอาง

เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด

รายงานพิเศษ

แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มแผ่วลง เล็กน้อยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก

แต่ด้วยศักยภาพการส่งออกของไทย จึงมีโอกาสที่การส่งออกจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้

เห็นได้จากคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 88.5 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 86.4 และดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนี้ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.5 จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 92.4

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินแนวโน้ม 10 อุตสาหกรรมส่งออกครึ่งหลังของปี 2564 มีโอกาสฟื้นตัวได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพเศรษฐกิจ แบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมออกเป็น 4 หมวด

1.อุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามตลาดโลก ได้แก่

อุตสาหกรรมอาหาร มองว่าจะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นตามการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากร โดยได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่มีทิศทางที่ดีขึ้นและการมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ซึ่งยังต้องเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบของโรงงานแปรรูปอาหาร

อุตสาหกรรมยานยนต์ เห็นได้จากค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นปรับแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มสูงขึ้น

2.อุตสาหกรรมที่โดดเด่นต่อเนื่องจากเทรนด์สุขภาพ ได้แก่

อุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (รวมถุงมือยาง)

อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ได้รับแรงหนุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหามลพิษต่างๆ ทำให้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น บำรุงร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย แนวโน้มของการเจ็บป่วยประเภทโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ประกอบกับนโยบายที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) จะช่วยเสริมทิศทางการเติบโตของกลุ่มเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศสูง โรงพยาบาลต่างๆ นิยมใช้สินค้านำเข้ามากกว่าที่ผลิตในไทย อีกทั้งห้องแล็บในการทดสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ยังมีไม่เพียงพอ

3.อุตสาหกรรมที่เติบโตในช่วงทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ได้แก่

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น เพราะการทำงานจากที่บ้านทำให้ผู้คนต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านมากขึ้น

โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เช่น โต๊ะทำงาน เฟอร์นิเจอร์ไม้ เฟอร์นิเจอร์โลหะ เป็นต้น ที่มีอัตราการเติบโตได้ดีตามการใช้ชีวิตในช่วงโควิด-19 จากอานิสงส์ที่ต้องอยู่กับบ้าน

ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Home Device) ที่มีระบบการทำงานที่ฉลาดมากขึ้น กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง ปัญหาการขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ ราคาเหล็กและ ทองแดงปรับเพิ่มขึ้น ขาดแคลนแรงงาน และค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้น

4. อุตสาหกรรมที่มีทิศทางเติบโตตามสถานการณ์ โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายคือ กลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ได้แก่

อุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์

อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหาร จะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยในสินค้ากลุ่มสร้างสรรค์ และการตกแต่งอาคารสถานที่ต่างๆ อย่างมาก

เนื่องจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ช่วงโควิด-19 ที่ธุรกิจต่างๆ หยุดการใช้จ่าย หยุดการพัฒนา ซึ่งในช่วงเวลาที่หยุดไปนั้นสิ่งของต่างๆ ได้ถูกใช้จนเต็มประสิทธิภาพแล้ว เมื่อใดก็ตามที่มีการฟื้นตัวจึงนับเป็นโอกาสของสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ที่จะฟื้นตัวได้สูง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ถูกกว่า การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.ระบุว่าในช่วง ครึ่งหลังของปีนี้มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกของไทยที่มีทิศทางดีขึ้น สะท้อนได้จากคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่ม ฟื้นตัว และสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย

ทำให้อุปสงค์จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเป็นปัจจัยบวกต่อ ผู้ส่งออก ทำให้สินค้าไทยถูกลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และยังมี รายได้ในรูปเงินบาทมากขึ้น

เห็นได้จากปัจจัยผลสำรวจผู้ประกอบการ 1,364 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศล่าสุด พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 58.2, และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร้อยละ 43.5

“ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อตลาดในประเทศอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในประเทศลดลงต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์ลักษณะนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในประเทศไทยมากนัก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผล กระทบจำนวนมาก”

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 59.6 สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 47.4 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 37.2 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ ระดับ 90.8 จากเดือนพ.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 91.8

เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย และอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการควบคุม รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดอาจทำได้ยาก

ขณะเดียวกัน อุปสงค์ในประเทศยังชะลอตัวลง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง

ส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้เร่งการจัดหาวัคซีนคุณภาพและเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศในทุกกลุ่มอาชีพ ก่อนพิจารณาเปิดประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเร่งแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างจนกระทบภาคการผลิต การส่งออก

นอกจากนี้ ให้ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โควิด-19 ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งกิจการทุกประเภทเพื่อบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยควรจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษช่วยเหลือเอสเอ็มอีกลุ่มที่มียอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอาจกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

เช่น กำหนดดอกเบี้ยพิเศษ หรือจัดทำเกณฑ์พิจารณาสำหรับผู้ประกอบการที่มีโอกาสรอด เป็นต้น และมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคร้อยละ 30 เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี

สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำเป็นอันดับแรกคือ ต้องหาวัคซีนฉีดให้ประชาชนครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศให้ได้โดยเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

“โครงการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแจกเงินอยู่ในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นโครงการเราชนะ คนละครึ่ง ม.33 คนละ 3,000-3,500 บาท เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ารัฐนำเงินที่แจกไปซื้อวัคซีนให้ประชาชนได้ฉีดรวดเร็วขึ้นน่าจะดีกว่า เพราะวัคซีนราคาไม่เกิน 2,000 บาทต่อคน ถูกกว่าการแจกเงินอยู่แล้ว” นายสุพันธุ์กล่าว

เพราะชีวิตคนมีค่า…วัคซีนต้องมาก่อน

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( รายงานพิเศษ - แนวโน้ม'10 อุตสาหกรรม'ส่อฟื้นตัว อาหาร-สุขภาพ-รถยนต์-เครื่องสำอาง - ข่าวสด - ข่าวสด )
https://ift.tt/3hAwyQo
อาหารสุขภาพ

Bagikan Berita Ini

0 Response to "รายงานพิเศษ - แนวโน้ม'10 อุตสาหกรรม'ส่อฟื้นตัว อาหาร-สุขภาพ-รถยนต์-เครื่องสำอาง - ข่าวสด - ข่าวสด"

Post a Comment

Powered by Blogger.