จากตำนานสู่วิสาหกิจ "ข้าวฮางทิพย์"
เมื่อปี 2548 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในหมู่บ้านกุดจิก หมู่ 9 ตำบลนาคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 15 คน ได้รวมกลุ่มกันทำนาเกี่ยวข้าวในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ และนำข้าวที่เกี่ยวแล้ว นำมาแปรรูปข้าวให้มีมูลค่าเพิ่ม เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก ช่วงแรกนำมาทำข้าวฮางไว้รับประทานในครัวเรือนยังไม่มีการจำหน่าย
และมีแนวคิดรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เมื่อปี 2558 เกิดจากการรวมตัวของชุมชน ในโครงการ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” เพื่อจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 28 คน โดยมี รุ่งอรุณ ก่ำจำปา เป็นประธาน ให้สมาชิกกลุ่มนำข้าวมารวมกัน ส่วนสมาชิกรายใดไม่มีข้าวก็สามารถนำเงินมาเป็นหุ้น จำนวน 200 บาทมี เป้าหมาย “ข้าวฮางสร้างกุดจิก กินดีอยู่ดี” สร้างรายได้อย่างยั่งยืนแก่ชุมชน และตั้งชื่อแบรนด์สินค้า “ข้าวฮางทิพย์”
รุ่งอรุณ ก่ำจำปา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่ม ประกอบด้วยข้าวฮางข้าวเหนียว ข้าวฮางข้าวหอมมะลิ ข้าวฮางข้าวหอมนิล ข้าวฮางข้าวมันปู และข้าวฮางข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวฮาง ได้แก่ ข้าวฮางกรอบ คุกกี้ข้าวฮาง แป้งข้าวฮาง เค้กกล้วยหอมข้าวฮาง โดยผลิตภัณฑ์ข้าวฮาง มีการรับรองมาตรฐาน OTOP ระมดับ 3 ด้วย และมาตรฐาน อย. รวมถึงสำนักงานเกษตรอำเภอวานรนิวาส หนุนเสริมการทำงานของกลุ่ม ได้รางวัลวิสาหกิจดีเด่นระดับจังหวัดสกลนครประจำปี 2565 อีกด้วย
สำหรับกระบวนการทำงานร่วมกับ “ไปรษณีย์เพิ่มสุข” ในปี 2558 – ปัจจุบัน นั้น เริ่มจากการจัดทำแบรนด์สินค้า “ฮางทิพย์”. พร้อมได้ออกแบบ Logo และบรรจุภัณฑ์สินค้าให้กับชุมชน พร้อมทั้งผลิตบรรจุภัณฑ์ให้กับกลุ่ม จากนั้นจึงได้งบประมาณจากจังหวัด จำนวน 300,000 บาท ในการพัฒนาปรับปรุงโรงเรือน การผลิตข้าวฮาง นอกจากนี้ยังนำสินค้าของกลุ่มจำหน่ายในระบบเว็บไซต์ thailandpostmart ฝากขายหน้าที่ทำการไปรษณีย์ ร้านค้าในชุมชน และในช่องทางต่าง ๆ อาทิ การออกบูธสินค้า การจัดส่งสินค้าในอัตราพิเศษ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มคนมีกำลังซื้อ และกลุ่มผู้ป่วยหรือต้องคุมอาหาร
ขณะที่ในด้านการพัฒนาสินค้า มีการอบรมถ่ายทอดความรู้นวัตกรรมการทำคุกกี้ข้าวฮางสามสี เป็นการใช้ข้าวฮางแทนแป้งสาลีมาเป็นส่วนประกอบหลักในการทำคุกกี้จากข้าวฮางที่มีคุณประโยชน์ เป็นการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า และมีสินค้าที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้บริโภค มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กลุ่มวิสาหกิจฯ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และอุปกรณ์ อาทิ โรงสีข้าว อุปกรณ์การแปรรูปคุกกี้ข้าวฮาง ได้แก่ ตู้อบ เครื่องโม่แป้ง เครื่องผสม
นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนฯ ได้ไปศึกษาดูงาน ณ กลุ่มข้าวภูพานและกลุ่มข้าวฮางโพนนาแก้ว เพื่อให้เกิดการ cross learning ระหว่างกลุ่ม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์นำมาพัฒนาต่อยอดต่อไป เชื่อมโยงศูนย์วิจัยข้าวสกลมาให้ความรู้การปลูกข้าวปลอดสารเคมี (GAP) เพื่อผลิตข้าวปลอดสารเคมี เป็นการควบคุมการผลิตข้าวปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำ ประสานหน่วยงานเข้ามาหนุนเสริมเป็นระยะ
เพิ่มมูลค่า-ขยายตลาดสร้างเงินล้าน
สำหรับแผนการดำเนินโครงการ ปี 2566 มีแผนในการสร้างข้าวฮางเงินล้าน จากข้าวสาร แป้งและขนม โดยการ Refresh Brand ขยายฐานลูกค้าจากท้องถิ่นสู่ตลาดคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตในเขตเมือง ผ่านการประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเกิดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่ายหน่วยงาน หนุนเสริมสนับสนุนการทำงานร่วมกัน
ประชุมสร้างความเข้าใจและจัดทำแผนงานร่วมกับชุมชน ให้เกิดการพัฒนาจากความต้องการของชุมชน และร่วมกันวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของวิสาหกิจชุมชน และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ อาทิ ข้าวสาร คุกกี้ เค้กกล้วยหอม ให้น่าสนใจและคงคุณภาพ มีบรรจุภัณฑ์ที่น่าสนใจ และรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้นานเพิ่มขึ้น ขอมาตรฐาน อย. ผลิตภัณฑ์ อาทิ คุกกี้ เค้กกล้วยหอม พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ ด้วยการสร้าง Story ของ Influencer
และ Set Premium DIY ทำขนมจากแป้งข้าวฮาง ในช่วงเทศกาลพิเศษ ชุด Set DIY เปลี่ยน “แป้ง” ให้ “ปัง” จัดชุดทำขนมง่าย ๆ ในคอนโด หรือครอบครัวเล็ก ๆ เพื่อเนรมิต แป้งที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร ให้เป็นขนมหวานแสนอร่อย ได้ประโยชน์ สร้างสัมพันธ์อันดีกับสมาชิกในครอบครัว หรือจะเป็น Set แทนคำขอบคุณของ ปณท ในโอกาส 140 ปี กิจการไปรษณีย์ จัดกิจกรรมหมุนเวียนในพื้นที่เรียนรู้ เกิดกิจกรรม workshop ให้ผู้ที่มาศึกษาดูงานร่วมกิจกรรม และขยายช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ หน้าที่ทำการวิสาหกิจชุมชน/ ที่ทำการไปรษณีย์ ร้านจำหน่ายของฝาก หรือ ห้างสรรพสินค้า อาทิ TOPs และช่องทางออนไลน์ อาทิ Page FB เป็นต้น
ปั้นอัตลักษณ์ผ่านแนวคิด 3 High
ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า “ข้าวฮาง จากวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางทิพย์ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร” เป็น แนวทางการต่อยอดสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยอย่าง “ข้าว” ให้มีมูลค่าสูงขึ้นตามเทรนด์การดูแลสุขภาพ และยังเป็นการยกระดับภูมิปัญญาภูไทที่มีมากกว่า 200 ปี ของชาวสกลนครให้มีความโดดเด่นและ มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่เริ่มพัฒนาสินค้าดังกล่าวภายใต้โครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข
เป็นระยะเวลากว่า 9 ปี ได้ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนข้าวฮางทิพย์ บ้านกุดจิกมีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รู้จักกรรมวิธีแบบใหม่ในการพัฒนาข้าวฮางให้มีคุณภาพ และยังได้การยอมรับในฐานะ OTOP ระดับสามดาวอีกด้วย
สำหรับการพัฒนาข้าวฮางภายใต้โครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข ในระยะถัดไป ไปรษณีย์ได้ตั้งเป้าหมายและกำหนดอัตลักษณ์ที่สำคัญของสินค้าไว้ดังนี้
High Profile ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นสินค้าตัวท็อปในหมวดหมู่สินค้าทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าประเภทข้าวที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจและเลือกซื้อ สามารถป้อนตลาดคนรักสุขภาพ กลุ่มคนมีกำลังซื้อ กลุ่มผู้ป่วยหรือต้องคุมอาหารได้ทั้งช่องทางออนไลน์ https://ift.tt/4sirpyt ที่ทำการไปรษณีย์ หรือช่องทางร้านค้าที่ให้การสนับสนุนจัดจำหน่าย อีกทั้งยังมุ่งนำเสนอสตอรี่ที่สำคัญทั้งกระบวนการในผลิตที่ปลอดภัย มาตรฐานของสินค้า ผลลัพธ์ที่ได้จากการบริโภค เป็นต้น
High Benefit จากการผลิตด้วยกระบวนการ “แช่-นึ่ง-ผึ่ง-สี” ที่กระตุ้นให้ข้าวงอก และทำให้ข้าวมีสารอาหารต่างๆ สูง โดยเฉพาะสาร GABA ซึ่งช่วยลดความดันโลหิตและปริมาณคลอเรสเตอรอล มีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งมีธาตุแมงกานีส ในปริมาณสูง ซึ่งจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง นอกจากนั้นข้าวฮางมีค่าการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำจึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมระบบประสาทรวมทั้งกล้ามเนื้อ
High Value ยกระดับข้าวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีรายได้ที่มากขึ้นจากสินค้าประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์หลักอย่างข้าวฮางเหนียว ข้าวฮางเจ้าหอมมะลิ ข้าวฮางหอมนิล ข้าวฮางมันปู ข้าวฮางไรซ์เบอร์รี่ ผ่านการผลิตขึ้นใหม่ การรับผลิตตามรายการสั่งซื้อและงานแสดงสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งการต่อยอดเป็นสินค้าที่มีความสร้างสรรค์ขึ้นและรองรับกับไลฟ์สไตล์การบริโภคใหม่ๆ ของคนเมืองอย่างเค้กกล้วยหอมข้าวฮาง ข้าวฮางกรอบ คุกกี้ข้าวฮางสามสีที่เป็นการใช้ข้าวฮางแทนแป้งสาลี มาเป็นส่วนประกอบหลักในการทำคุกกี้จากข้าวฮางที่มีคุณประโยชน์
ดนันท์ กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนข้าวฮางทิพย์มีสมาชิกรวม 28 ราย จัดอยู่ในหมวดหมู่วิสาหกิจชุมชนเงินล้าน มีผลผลิตข้าวเปลือกที่นำมาแปรรูปทำข้าวฮาง ประมาณ 15,000 กิโลกรัม และวิสาหกิจชุมชนฯ มีการรับซื้อข้าวเปลือกจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ 25,000 กิโลกรัม มีตลาดรองรับที่สำคัญ ได้แก่ รพ.วานรนิวาส เพื่อทำเป็นอาหารสุขภาพสำหรับผู้ป่วย และแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามออเดอร์ อาทิ แป้งข้าวฮางสำหรับทำขนม คุกกี้ข้าวฮาง เค้กกล้วยหอม บราวนี่ ขนมปังกรอบ ชิฟฟ่อนข้าวฮาง
การขายปลีกบนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 90 แห่ง มีการผลิตและมีบรรจุภัณฑ์ที่รองรับกับการจัดส่งในพื้นที่ต่างๆ ทั้งการแพ็คแบบสูญญากาศในกล่อง และการบรรจุแบบขวด สามารถส่งข้าวฮางออกจำหน่ายได้ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ สินค้าดังกล่าวยังมีความโดดเด่นด้วยการจัดส่งที่รวดเร็วตามมาตรฐานส่งด่วน EMS เลือกซื้อได้ง่ายผ่านช่องออนไลน์ที่มีความสะดวกอย่าง www.thilandpostmart.com ปลอดภัย ให้บริการในราคาพิเศษ และจัดส่งต่อเนื่องตลอด 365 วัน
อ่านบทความและอื่น ๆ ( ข้าวฮางทิพย์ สกลฯ ปั้นแบรนด์ผ่าน 3 High รุกตลาดพรีเมียม สู่วิสาหกิจเงินล้าน - Post Today )https://ift.tt/1nK25kA
อาหารสุขภาพ
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ข้าวฮางทิพย์ สกลฯ ปั้นแบรนด์ผ่าน 3 High รุกตลาดพรีเมียม สู่วิสาหกิจเงินล้าน - Post Today"
Post a Comment