กรมอนามัย เปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นครั้งแรกที่หวังใช้กฎหมายควบคุมการตลาดส่งเสริมการขาย การโฆษณาอาหารที่หวาน มัน เค็ม เกินค่ามาตรฐาน ป้องกันโรคติดต่อไม่เรื้อรัง หลังพบเด็กไทยอ้วนเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน
สหพันธ์โรคอ้วนโลก คาดปี 2573 คนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีภาวะอ้วนสูงเกิน 30%
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ผ่านระบบออนไลน์ ว่า จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2563 พบว่าใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยมีภาวะอ้วนขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยเด็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะอ้วนและเริ่มอ้วน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 11.4 เด็กอายุ 5-14 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 13.9 และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะอ้วน ร้อยละ 13.2 ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federations หรือ WOF) คาดการณ์ว่า ปี 2573 ประชาชนไทยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรค NCDs และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในอนาคต
ดันร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารในเด็กฯ ครั้งแรกของไทย
นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ในฐานะประธานการรับฟังความคิดเห็นการประชาพิจารณ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเช้า ว่า จากปัญหาสุขภาพที่เกิดกับเด็ก ทั้งโรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ขึ้น ซึ่งเป็นร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยได้เตรียมการมากว่า 2 ปีแล้ว ทั้งนี้ ขอบเขตเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาด การโฆษณาต่างๆในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการออกกฎมาควบคุม ไม่เคยมีมาก่อน
นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ประเทศไทย เป็นประเทศกลุ่มอาเซียน และเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.นี้ แต่ในต่างประเทศมีแล้ว เช่น ชิลี อังกฤษ ตรงนี้จะมีข้อดีในการควบคุมโฆษณาเกินจริง โดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่ม ขนมที่มีไขมัน ความหวาน เค็ม สูงเกินไป ซึ่งทำให้เกิดโรคเอ็นซีดีในเด็ก โดยไทยมีเด็กอ้วนเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน และเด็กส่วนหนึ่งเชื่อและซื้ออาหารตามที่ได้รับการโฆษณาทั้งทีวี ออนไลน์ ทำให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย จึงจำเป็นต้องควบคุมการตลาดไม่ให้ส่งเสริมในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งการควบคุมตรงนี้จะจำเพาะกลุ่มอาหารที่มีสารที่เกินจากมาตรฐานที่กำหนดไว้
“สำหรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มี 4 หมวด และ 1 เฉพาะกาล รวม 42 มาตรา ทั้งบทลงโทษ ขอบเขตในการควบคุม มีคณะกรรมการเกี่ยวข้องจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งวันนี้เป็นอีกครั้งที่ทำประชาพิจารณ์ โดยวันนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 30 หน่วยงาน ทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง ฝ่ายวิชาการต่างๆ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด คาดว่าภายใน 1 ปีต้องดำเนินการเพื่อให้กฎหมายคลอดออกมาให้ได้ โดยระหว่างนี้ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์กรมอนามัยจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารฯ เน้นกลุ่มที่สารโซเดียม หวาน มัน เค็ม เกินค่ามาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.อาหาร หรือกฎหมายลูกของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ควบคุมส่งเสริมการขายด้วยหรือไม่ นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า คนละอย่างกัน อย่างพ.ร.บ.อาหาร จะควบคุมเรื่องอาหารมีคุณภาพอย่างไร ปริมาณแบบไหนที่ขายได้ ทำฉลากได้ แต่ของเราจะควบคุมการส่งเสริมการตลาด การโฆษณาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องตรงสารอาหารที่จะระบุในฉลากอาหารต้องชัดเจน ทั้งไขมัน น้ำตาล เค็มต้องไม่เกินตามที่กำหนด หากเกินตามที่กำหนดก็ต้องควบคุมการส่งเสริมการตลาด การโฆษณา ส่วนกฎหมาย อย.ก็ไม่ซ้ำซ้อน คนละส่วน
เมื่อถามย้ำว่า หากสารอาหารอย่างโซเดียม ไขมัน น้ำตาลไม่เกินค่าปกติสามารถโฆษณาได้ใช่หรือไม่ นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ใช่ แต่มีประเด็นที่น่าห่วง ยังเป็นช่องว่าง เพราะหากไปโฆษณาแต่กระทบต่อเด็กก็ต้องลิงก์ว่ามีผลกระทบแบบนั้นก็จะไม่ให้มีการโฆษณาเพื่อไม่ให้เกิดกระทบต่อเด็ก ก็เป็นข้อหนึ่งที่จะลงไปในรายละเอียด
อินฟลูเอนเซอร์ระวัง! ส่งเสริมการตลาดอาหารเด็ก
ผู้สื่อข่าวถามว่าอินฟลูเอนเซอร์ก็จะรวมอยู่ด้วยใช่หรือไม่ นพ.สราวุฒิกล่าวว่า ใช่ น่าจะเข้าไปอยู่ด้วย เพราะมีส่วนสำคัญในโฆษณา โดยอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่โฆษณาจะมีความผิดร่วมด้วยหรือไม่ ต้องพิจารณาหลายปัจจัย เนื่องจากปัจจุบันโทษยังเป็นเพียงทางแพ่งเท่านั้น
เมื่อถามถึงกรณีร้านอาหารรายย่อย กลุ่มฟาสต์ฟู้ดที่ไม่มีฉลากติดชัดเจน จะอยู่ภายใต้กฎหมายนี้หรือไม่ นพ.สราวุฒิกล่าวว่า อาหารที่เราจะเข้าไปควบคุม ถ้าจะมาโฆษณาได้ก็ต้องผ่านการมีฉลาก แต่อาหารบางกลุ่มที่ไม่มีฉลากก็มี เราพยายามให้ผู้ประกอบการหลายแห่งให้มาลงทะเบียนและมีฉลากก็ต้องไปผ่าน อย. ส่วนร้านเล็กๆ โฮมเมดที่ไม่มีฉลากอยู่แล้วก็จะเป็นลำดับถัดไปเป็น Next Step ซึ่งเราจะพยายามให้เข้ามาสู่ระบบเช่นกัน แต่กลุ่มเหล่านี้จะไม่ค่อยโฆษณาเท่าไร เพราะจะขายอยู่แค่ตรงนั้น นอกจากนี้ เรายังควบคุมไปถึงออนไลน์ด้วย เพราะผู้บริโภคจำเป็นต้องรู้ว่ามีสารอะไรในนั้น แต่ระยะแรกจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนรายย่อยต้องค่อยเป็นค่อยไป ส่วนใหญ่เน้นการส่งเสริมให้ความรู้
ขณะที่พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวถึงสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ. ... นั้น มีทั้งหมด 42 มาตรา โดยเด็กจะหมายถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก คือ อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมันน้ำตาลโซเดียมสูงหรืออาหารและเครื่องดื่มอื่นใดที่เด็กบริโภคแล้วทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งภาวะทุพโภชนาการ พัฒนาการ หรือความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ฯ
ทั้งนี้ สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ฯ มี 4 หมวด 42 มาตรา เช่น
หมวด 1 คณะกรรมการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก(มาตรา5-11) โดยปลัดสธ. เป็นประธาน คณะกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐโดยตำแหน่ง จำนวน 12 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 6 คน และผู้แทนองค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหากำไรจำนวน 5 คน อธิบดีกรมอนามัย เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมอนามัยแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 2 คน รวมทั้งสิ้น 27 คน
หมวด 2 การควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก โดยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กดำเนินการ อาทิ ฉลากต้องไม่ใช้ข้อความ หรือเทคนิคอื่นใดที่ดึงดูดให้กลุ่มเด็กสนใจ และต้องแสดงข้อความหรือสัญลักษณ์ในฉลากตามหลักเกณฑ์ (มาตรา14) ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือตัวแทน ห้ามแสดงถึงความคุ้มค่าทางด้านราคา (มาตรา 15) ห้ามจำหน่ายในสถานศึกษาหรือสถานที่อื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศฯ (มาตรา 16) ห้ามส่งเสริมการขาย (แจก แถม ให้ ชิงโชค จัดส่งไม่คิดค่าบริการ) (มาตรา 14) ห้ามบริจาคในสถานศึกษา และสถานที่ศูนย์รวมสำหรับเด็ก หรือสถานที่อื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศฯ (มาตรา 20) ห้ามติดต่อเด็กไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ทุกช่องทาง (มาตรา 23)
หมวด 3 พนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 25-28) มีอำนาจหน้าที่เข้าไปในสถานที่ในกรณีมีเหตุอันควร สงสัยว่ามีการกระทำความผิด เพื่อตรวจสอบ และสามารถยึดหรืออายัดเอกสาร สื่อโฆษณา หรือสิ่งอื่นใดที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ในกรณีที่ไม่ปรากฎเจ้าของภายในวันนับจากวันยึด ให้สิ่งของนั้นตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข
หมวด 4 บทกำหนดโทษ (มาตรา 29-39) ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่มีโทษจำคุก มีเพียงการกำหนดโทษปรับ โดยหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เกิน 10,000 บาท และระวางโทษปรับเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ระหว่าง100,000 ถึง300,000 บาท และมีโทษปรับรายวันบางมาตราในกรณีที่ยังไม่ปฏิบัติดาม ทั้งนี้ การระวางโทษปรับขึ้นกับฐานความผิดในมาตราที่เกี่ยวข้อง
ส่วนบทเฉพาะกาล (มาตรา 40-42) กำหนดคณะกรรมการวาระแรก เป็นคณะกรรมการตามตำแหน่งไปพลางก่อน และให้แต่งตั้งคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 90 วัน และกำหนดให้ฉลากอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กที่ได้จัดทำไว้แล้ว ยังคงใช้ต่อได้ไม่เกิน 6 ปี รวมทั้ง ให้ดำเนินการออกประกาศตาม พ.ร.บ.นี้ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
อ่านบทความและอื่น ๆ ( เปิดสาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมตลาดอาหารฯในเด็ก เป็นครั้งแรกของไทย คุม ... - Hfocus )https://ift.tt/LQaXYwn
อาหารสุขภาพ
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เปิดสาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมตลาดอาหารฯในเด็ก เป็นครั้งแรกของไทย คุม ... - Hfocus"
Post a Comment