Search

กรมอนามัยจับมือภาคี ดันกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารเครื่องดื่มฯ ยุติโรค ... - ไทยรัฐ

2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า และเด็กอ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึง 5 เท่า

ที่น่าห่วงคือ ผลกระทบต่อภาวะอ้วนในเด็ก สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนลงพุง เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

และที่สำคัญ สหพันธ์โรคอ้วนโลก หรือ World Obesity Federation :WOF คาดการณ์ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนของผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ของประเทศไทย ในปี 2573 จะสูงกว่า ร้อยละ 30

นั่นคือ เหตุผลสำคัญที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และทุกภาคส่วนในสังคมไทย ต้องเร่งหาทางลดปัญหาโรคอ้วนและโรคติดต่อไม่เรื้อรัง

“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอฉายภาพการขับเคลื่อนของ กรมอนามัย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนทุกกลุ่มอายุ โดยสร้างสภาพแวดล้อมและการให้ความรู้กับประชาชน รวมทั้งการรณรงค์ลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีรส หวาน มัน เค็ม ที่เกินพอดี ในคนไทยทุกกลุ่มอายุ เช่น นโยบายหวานน้อยสั่งได้ เพื่อลดปริมาณความหวานของร้านเครื่องดื่มชง ให้เหลือร้อยละ 5 โดยมีร้านค้าแบรนด์ใหญ่ร่วมโครงการ 27 แบรนด์ และร้านค้าทั่วไปอีก 2,355 ร้าน ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้การสนับสนุนการบริโภคอาหารที่ได้รับการรับรอง สัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” จำนวน 14 กลุ่มอาหาร และมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจำนวน 2,749 ผลิตภัณฑ์จาก 444 บริษัท

สำหรับเด็กนั้น พบว่า สาเหตุของภาวะอ้วนในเด็กไทยมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณ ไขมัน น้ำตาล โซเดียม เช่น ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม อาหารทอดหรือฟาสต์ฟู้ด โดยพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยดื่มนมรสหวานทุกวัน, 1 ใน 3 ของเด็กไทยกินขนมขบเคี้ยวทุกวัน, 1 ใน 5 ของเด็กไทยดื่มน้ำหวาน/น้ำอัดลมทุกวัน และ 4 ใน 5 ของเด็กไทยกินอาหารฟาสต์ฟู้ด 3 วันต่อสัปดาห์ โดยมีข้อมูลยืนยันว่า การตลาดอาหารและเครื่องดื่มส่งผลกระทบต่อเด็กในทุกช่องทางการสื่อสาร และจากพฤติกรรมปัจจุบันที่เด็กไทยใช้เวลากับสื่อมากในแต่ละวัน โดยเด็กไทยอายุ 10-21 ปี ใช้อินเตอร์เน็ตนานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 90 ของเด็กไทยอายุ 10-14 ปี เคยเห็นโฆษณาขนม อาหารจานด่วน เช่น พิซซ่า ไก่ทอด และเครื่องดื่มรสหวาน และเด็กเล็กอายุ 6-8 ปี มากกว่าร้อยละ 70 เคยเห็นโฆษณาดังกล่าวทางสื่อโทรทัศน์มากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อการเลือกซื้ออาหารจากความชอบมากกว่าบริโภคตามคุณค่าทางโภชนาการ

ปัญหาโรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องเร่งแก้ไข แต่การจะยุติปัญหาโรคอ้วนในระดับประชาชนหรือในครอบครัว มีปัจจัยที่ซับซ้อนและมีเงื่อนไขที่หลากหลาย จำเป็นต้องอาศัยระดับนโยบายมาช่วย โดยการออกกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก หรือ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เพราะกลยุทธ์ทางการตลาดของอาหารและเครื่องดื่มจะมุ่งเป้าไปที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่งผลให้เด็กไทยเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการตลาดมากขึ้น

นพ.สราวุฒิ บุญสุข
นพ.สราวุฒิ บุญสุข

นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และประธานการรับฟังความคิดเห็นการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เล่าว่า กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะตอนนี้ เด็กไทยมีภาวะอ้วนเกินมาตรฐานเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่เด็กเชื่อซื้อ และรับประทานอาหาร ตามสื่อที่ได้รับมาจากโฆษณาทุกช่องทาง โดยเฉพาะทางออนไลน์ ที่เข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย ซึ่งหลายประเทศที่ใช้กฎหมายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม เช่น อังกฤษ เกาหลีใต้ ชิลี แคนาดา ช่วยลดปัจจัยการพบเห็นและลดสิ่งกระตุ้นในเด็กอย่างได้ผล ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร่วมประชาพิจารณ์ได้ที่ https://ift.tt/28zqA3Q สำหรับประชาชน ได้ที่ https:// moph.cc/PHFORALL จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2566 ตั้งเป้าจะคลอดกฎหมายนี้ให้ได้ภายใน 1 ปี

พญ.สายพิณ โชติวิเชียร
พญ.สายพิณ โชติวิเชียร

สำหรับมาตรการหลักที่ใช้ในการควบคุมการตลาด อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กนั้น พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้ขยายความว่า “มี 9 มาตรการหลัก คือ 1.ฉลาก ต้องไม่ใช้เทคนิคดึงดูดเด็ก เช่น การ์ตูน ดารา และควรแสดงสัญลักษณ์กำกับที่เข้าใจง่าย 2.ควบคุมการแสดงความคุ้มค่าด้านราคา เช่น ป้ายลดราคา หรือป้ายความคุ้มค่าด้านปริมาณ 3.ควบคุมการจำหน่ายในสถานศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา 4.ควบคุม การโฆษณา ทุกช่องทาง 5. ควบคุม การแลก แจก แถม ให้ ชิงโชค ชิงรางวัล ส่งฟรี 6. การมอบหรือให้ สิ่งของ อุปกรณ์ ของใช้ หรืองบประมาณในการจัดกิจกรรมใดจะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก 7.ห้ามบริจาค อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในสถานศึกษาและสถานที่ศูนย์รวมของเด็ก 8.การจัดตั้งกลุ่ม ชมรม ชุมชนออนไลน์ จะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก และ 9.การติดต่อ ชักชวน หรือจูงใจเด็ก ทั้งทางตรงและทางอ้อมจะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก”

“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองว่าเรื่องนี้ทุกภาคส่วนควรร่วมกันขับเคลื่อนให้มีกฎหมายออกมาควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เพราะถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคนในสังคมที่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งผู้ใหญ่ก็ควรเป็นต้นแบบในการลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง

แต่สิ่งที่อยากฝากไว้คือ หลักเกณฑ์ที่จะออกมานั้น ควรต้องผ่านการระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง โดยยึดประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง จะได้มีเครื่องมือ กลไก ในการติดตาม ตรวจสอบ ควบคุม แก้ไขสิ่งที่เป็นโทษต่อสุขภาพเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีของเด็กไทยอย่างแท้จริง.

ทีมข่าวสาธารณสุข

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( กรมอนามัยจับมือภาคี ดันกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารเครื่องดื่มฯ ยุติโรค ... - ไทยรัฐ )
https://ift.tt/pZSRGOC
อาหารสุขภาพ

Bagikan Berita Ini

0 Response to "กรมอนามัยจับมือภาคี ดันกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารเครื่องดื่มฯ ยุติโรค ... - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.