เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำใหม่ว่าด้วยการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล (artificial sweeteners) โดยไม่แนะนำให้คนทั่วไปใช้สารดังกล่าวเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCDs) เช่นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
สาเหตุที่องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำดังกล่าว มาจากผลการวิจัยล่าสุดที่ชี้ว่าสารแทนน้ำตาลไม่มีประโยชน์ต่อการช่วยลดน้ำหนักหรือลดระดับน้ำตาลในเลือดในระยะยาว ผู้ที่บริโภคสารแทนน้ำตาลจึงยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกลุ่ม NCDs ได้เหมือนกับคนที่เสพความหวานจากน้ำตาลแท้
อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงข้างต้นจากองค์การอนามัยโลก ได้สร้างความสับสนให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยบางรายเข้าใจไปว่าสารแทนน้ำตาลเป็นอันตรายหรือให้โทษไม่ต่างจากน้ำตาลแท้ บางคนถึงกับคิดว่าควรจะกลับไปบริโภคน้ำตาลชนิดธรรมดาตามเดิมเสียยังดีกว่า
ดร. อีแวนเจลีน แมนต์ซีออริส นักโภชนาการจากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย ได้ชี้แจงถึงคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดต่อประเด็นดังกล่าว ในบทความของเธอที่ลงตีพิมพ์บนเว็บไซต์วิชาการ The Conversation ดังต่อไปนี้
อันดับแรก ดร. แมนต์ซีออริสกล่าวเน้นย้ำว่า ถ้อยแถลงขององค์การอนามัยโลกไม่ได้ระบุว่าสารแทนน้ำตาลนั้นให้โทษ หรือก่อให้เกิดอันตรายจนต้องสั่งห้ามบริโภค เนื่องจากผลวิจัยซึ่งเป็นที่มาของคำแนะนำล่าสุดนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สารเคมีหรือเรื่องความปลอดภัยแต่อย่างใด
ดร. แมนต์ซีออริสระบุว่า สารแทนน้ำตาลทุกชนิดยังคงมีประโยชน์ในแง่ที่มันไม่ให้พลังงาน หรือมีแคลอรีที่ต่ำมากจนเหมือนกับไม่มี แต่สามารถให้ความหวานได้สูงกว่าน้ำตาลธรรมดาถึง 400 เท่า ในขณะที่น้ำตาลแท้จะให้พลังงานราว 4 กิโลแคลอรีต่อ 1 กรัม จึงสามารถนำสารแทนน้ำตาลมาเติมในอาหารหรือเครื่องดื่มของผู้ป่วยเบาหวานเพื่อเพิ่มรสชาติได้
นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีการโฆษณาส่งเสริมให้ใช้สารแทนน้ำตาลในอาหารแปรรูปเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำอัดลมซึ่งให้พลังงานตกราวกระป๋องละ 120 กิโลแคลอรี มีการคำนวณว่าหากคนที่ดื่มน้ำอัดลมชนิดนี้วันละกระป๋อง เปลี่ยนมาดื่มแบบที่เติมสารแทนน้ำตาล จะช่วยให้ลดน้ำหนักได้เดือนละ 1 กิโลกรัมเลยทีเดียว
ทว่าผลการศึกษาในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา กลับชี้ว่าการลดน้ำหนักด้วยสารแทนน้ำตาลนั้นไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่คิด โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้ทำการวิเคราะห์ทบทวนงานวิจัยจำนวนมาก ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สารแทนน้ำตาลกับความอ้วน, การเกิดโรค NCDs, และอัตราการเสียชีวิต
ผลปรากฏว่างานวิจัยที่ติดตามศึกษาคนกลุ่มใหญ่ในระยะยาว 13 ปี พบว่าสารแทนน้ำตาลมีความเกี่ยวข้องกับดัชนีมวลกาย (BMI) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคอ้วนสูงขึ้นได้ถึง 76% นอกจากนี้ ผู้ที่บริโภคสารแทนน้ำตาลเป็นประจำยังมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 34% ทั้งมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งอัตราการตายก็เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่พบความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระหว่างการบริโภคสารแทนน้ำตาลกับโรคมะเร็งและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว การบริโภคสารแทนน้ำตาลไม่ได้ส่งผลบวกหรือลบต่อระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลินแต่อย่างใด
แม้ผลการวิเคราะห์ทบทวนงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก จะถูกโจมตีอย่างมากว่าเป็นมุมมองที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากมีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ชี้ว่ากลุ่มทดลองสามารถลดน้ำหนักได้ด้วยการใช้สารแทนน้ำตาล แต่ทางองค์การอนามัยโลกชี้แจงว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาในกลุ่มทดลองขนาดเล็กและมีคุณภาพต่ำ ทั้งยังชี้ว่าน้ำหนักที่ลดลงจากการใช้สารแทนน้ำตาลในการทดลองข้างต้นคิดเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อย โดยลดได้ราว 0.7 กิโลกรัมในระยะยาว
ดร. แมนต์ซีออริส กล่าวสรุปว่า แม้คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกจะชี้ว่าสารแทนน้ำตาลไม่มีประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของคนทั่วไปในระยะยาว แต่ยังอนุญาตให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้สารแทนน้ำตาลเพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารและเครื่องดื่มต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะกลับไปบริโภคน้ำตาลชนิดธรรมดาเหมือนเดิม เพราะน้ำตาลยังคงเป็นสาเหตุหลักของความอ้วนและโรคภัยต่าง ๆ แพทย์จึงแนะนำให้คนทั่วไปบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ต้องได้รับในแต่ละวัน ซึ่งอยู่ที่ราว 50 กรัม (10 ช้อนชา) สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี
https://ift.tt/e8kVhwG
อาหารสุขภาพ
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สารแทนน้ำตาลไม่อันตราย แต่ไม่ช่วยลดน้ำหนัก-รักษาสุขภาพ - บีบีซีไทย"
Post a Comment