Search

เตือนอาหารแปรรูปที่มีสารไนเตรทเกินปริมาณ อันตรายต่อสุขภาพ - ช่อง 7

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้โพสต์เตือนประชาชน เรื่อง อย่ากินไส้กรอกที่ระบุแหล่งไม่แน่ชัด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Ramathibodi Poison Center โดยระบุข้อความว่า สัปดาห์ที่ผ่านมี เด็กป่วยด้วยภาวะ “เมทฮีโมโกลบิน” (Methemoglobin) จำนวน 6 คน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 คน เพชรบุรี 1 คน สระบุรี 1 คน ตรัง 1 คน และกาญจนบุรี 1 คน โดยมีประวัติกินไส้กรอกซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มีเอกสารกำกับ

ภาวะที่ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดซ์โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ กลายเป็น methemoglobin ทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน และสีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว เขียว หากรุนแรง จะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้

สรุปสั้นๆ สารไนเตรทและไนไตรท์ คือ  “สารกันบูด” หรือบางคนเรียก ดินประสิว ใส่ในอาหารแปรรูปจำพวกเนื้อสัตว์ ได้แก่ ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง เนื้อเค็ม และแหนม เพื่อให้อาหารมีสีแดงอมชมพู คงสภาพอยู่ได้นาน และที่สำคัญช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิดที่มีสารพิษร้ายแรงต่อผู้บริโภค

“ฉลาก อย. สำคัญมาก” ผู้บริโภคบางส่วนเวลาเลือกซื้ออาหารอาจละเลยในการดูส่วนประกอบ วัตถุดิบที่ใช้และฉลาก อย. ยิ่งถ้าเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป (processing food) จำเป็นต้องมีฉลาก อย. กำกับ มีวันหมดอายุและแสดงส่วนประกอบชัดเจน เนื่องจากการสังเกตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปจากลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียวว่ามีสารไนไตรท์หรือไนเตรทสูงเกินมาตรฐานนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องใช้วิธีทางเคมีเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารที่ตกค้างอยู่ในผลิตภัณฑ์ หากผู้บริโภคไม่สามารถวิเคราะห์ปริมาณสารที่ตกค้างได้เอง ก็ควรมีข้อสังเกตในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ โดยควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสีชมพูหรือแดงเข้มจนเกินไป

กระทรวงสาธารณสุข มีประกาศ ฉบับที่ 281 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ว่า อนุญาตให้ใช้สาร “ไนเตรตและไนไตรท์” ได้ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมักเท่านั้น เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ “คลอสทริเดียม โบทูลินัม” ในทางสาธารณสุข สารกลุ่มไนเตรทนี้ ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารตามปริมาณที่กำหนดเท่านั้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปที่ไม่ผสมสารไนเตรตและไนไตรท์ มีโอกาสเกิดเชื้อคลอสทริเดียม โบทูลินัม ซึ่งปล่อยสารพิษร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน

ทั้งนี้ ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ระบุให้ใช้ได้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น คือ “โซเดียมไนเตรท” ใส่ได้ไม่เกิน 500 มก. ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก 1 กก. และ “โซเดียมไนไตรท์” ใส่ได้ไม่เกิน 125 มก. ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก 1 กก. หากใส่เกินปริมาณที่กำหนดนี้ จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

# เศรษฐศาสตร์ตลาดสด หน่วยงานรัฐต้องมีความเข้มงวดในการตรวจสอบผู้ผลิตในการใช้สารกันบูดในอาหารแปรรูปต้องห้ามตามปริมาณที่กำหนด มีแหล่งที่มาชัดเจน ผู้ผลิตต้องรู้ว่าห้ามใส่สารกันบูดในอาหารประเภทอื่นที่กฎหมายไม่ได้กำหนด มิฉะนั้น ถือว่าผิดกฎหมาย ด้านผู้ขายอาหาร หากจะอาหารแปรรูปมาประกอบอาหารก็ต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาที่ได้มาตรฐาน อย. ไม่ใช่คำนึงถึงแค่ต้นทุนวัตถุดิบถูก

นอกจากนี้ อยากจะชี้อีกประเด็นในมุมมองความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอาจยังมีความรู้ด้านโภชนาการไม่เพียงพอหรือไม่ ในทางปฏิบัติ ผู้ปกครองไม่สามารถที่จะติดตามดูและเลือกอาหารที่เหมาะสมให้เด็กและเยาวชนได้ตลอด ตัวเด็กเองควรมีความรู้และรู้จักเลือกบริโภคให้ถูกหลักโภชนาการในแต่ละวันด้วย สถาบันการศึกษาเป็นหนึ่งกลไกที่สำคัญที่ต้องเผยแพร่ความรู้เรื่องโภชนาการที่เหมาะสมให้แก่เด็กทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องสารไนเตรทเท่านั้น ปริมาณการใช้สารคงตัวในอาหาร ปัญหาการใส่ปริมาณน้ำตาล โซเดียม ผงชูรสสูงมากในอาหารและขนมขบเคี้ยว แม้กระทั่งการใช้สีผสมอาหารก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้แก่เด็กอยู่เสมอ

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพและห่างไกลพิษจากสารปนเปื้อนไนเตรทและไนไตรต์ ให้เลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินอีและวิตามินซีสูงหลังมื้ออาหาร ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดไนโตรซามีนในกระเพาะอาหารได้ โดยอาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น นม ไข่ ธัญพืช ถั่วลิสง ผักโขม น้ำมันพืช ส่วนวิตามินซีจะมีมากในผักผลไม้ เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศสีดา ผักกวางตุ้ง ข้าวโพดอ่อน บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ ชะอม ฝรั่ง เงาะ มะละกอ มะขามป้อม พุทรา และให้กินอาหารหลากหลาย ไม่กินอาหารซ้ำซาก

ความรู้ในเรื่องความอยู่ดีมีสุข (Well being) อาจฟังเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถือว่าเป็นการวางรากฐานให้เด็กและเยาวชนให้มีความรู้ที่ปรับใช้ได้ในโลกความเป็นจริงและเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะรู้จักป้องกันปัญหาสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บในอนาคต ดังนั้นความเข้มงวดกับผู้ผลิตในการใช้สารไนเตรทและสารเคมีอื่นๆในอาหาร กับการให้ความรู้โภชนาการแก่เด็กและครอบครัวต้องดำเนินควบคู่ไปด้วยกัน

ป้องกันสุขภาพไว้ดีกว่า

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( เตือนอาหารแปรรูปที่มีสารไนเตรทเกินปริมาณ อันตรายต่อสุขภาพ - ช่อง 7 )
https://ift.tt/QqSEbAFnM
อาหารสุขภาพ

Bagikan Berita Ini

0 Response to "เตือนอาหารแปรรูปที่มีสารไนเตรทเกินปริมาณ อันตรายต่อสุขภาพ - ช่อง 7"

Post a Comment

Powered by Blogger.