Search

ทักษะชีวิตวิถีใหม่ ชุมชนไทยต้อง “สร้างอาหารเป็น” - กรุงเทพธุรกิจ

foodhealtycom.blogspot.com
ทักษะชีวิตวิถีใหม่ ชุมชนไทยต้อง “สร้างอาหารเป็น”

1 กรกฎาคม 2563

37

หลัง 4 เดือนที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงต้องเผชิญความวิตกกังวลเรื่องสุขภาพ และปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่หลายชุมชนยังต้องพบกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

ในวันนี้ “การสร้างแหล่งอาหารให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์คับขัน” จึงกลายเป็นอีกหนึ่ง “ทักษะ” สำคัญที่หลายชุมชนต้องรับมือ มาส่องแนวคิดท้องถิ่น 3 ชุมชนต้นแบบ ที่ได้ผ่านบทเรียนผ่านด่านการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่นช่วงวิกฤตมาแล้ว กับเสวนาออนไลน์ พ้นภัยวิฤตด้วย “ความมั่นคงทางอาหาร” จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ชีวิตมั่นคงจากผักข้างบ้าน อาหารข้างรั้ว

เสน่ห์ แพงมา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงตาเจ็น  อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ  กล่าวว่า สำโรงตาเจ็น ไมีการทำงานชูประเด็นความมั่นคงทางอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี และสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชน

โดยพื้นที่มีการทำงานได้มีการสนับสนุนให้หมู่บ้านแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่น บ้านสนวน หมู่ที่ 12 ถือเป็นบ้านต้นแบบ หรือ หมู่บ้านจัดการตนเอง โดยจะมีการจัดการเรื่องความมั่นคงทางอาหารเช่น ธนาคารข้าว กลุ่มปลูกผัก วิสาหกิจชุมชน  แปรรูปอาหาร กิจกรรมอีกหลากหลาย เช่น ส่งเสริมการปลูกผักหลังบ้าน อาหารข้างบ้าน บ้านเหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างในการเป็นต้นแบบ เพื่อให้พื้นที่อื่นๆ หรือหมู่บ้านอื่นๆได้มาเรียนรู้ ศึกษาและนำไปทำต่อที่บ้าน นอกจากนี้อบต.ยังตั้งศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางและเพื่อให้ชาวบ้านได้ตระหนักในการช่วยเหลือตนเอง และพึ่งพากัน

ซึ่งนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ตำบลสำโรงตาเจ็น ได้ทำงานอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง การดูแลบรรเทาความเดือดร้อน ควบคู่ไปกับการดูแลเรื่องความมั่นคงอาหารในชุมชน โดยยังส่งเสริมให้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารโดยเฉพาะเด็กประถมวัย ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส นอกเหนือจากนั้นยังสนับสนุนด้านอาหารไปยังกลุ่มที่อยู่ในมาตรการกักตัวในพื้นที่ 14 วันด้วย

“ช่วงโควิดมีคนกลับมาบ้านถึง155คน ทั้งจากกรุงเทพฯและต่างประเทศ จึงต้องเพิ่มปริมาณอาหาร เราปลูกไผ่ แหล่งเพาะพันธุ์อึงอ่าง คนที่กลับบ้านเขาจึงไม่กังวลเรื่องอาหาร ข้างบ้านมีบ่อปลา เล้าไก่ ผักสวนครัว ขณะที่อบต.เองก็มีศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นคลังอาหารให้ชุมชน ผลิตผัก ถั่วฝักยาว ต้นห้อม ผักชี ซึ่งช่วงนั้นตลาดก็ปิด รถพุ่มพวงก็เข้ามาไม่ได้ ค้าขายหยุด ถ้าขาดเหลือ ไม่มีก็สามารถมาเอาที่ศูนย์ฯอบต.ได้เช่นกัน”

แม้เชื่อว่าโรงตาเจ็นมีความเข้มแข้ง แต่ทุกคนไม่ประมาท เตรียมพร้อมทั้งอาหารชุมชน และทำป่าให้เป็นแห่งผลิตอาหาร สร้างรายได้ชุมชนภายใต้กติการ่วมกัน

อนาคตเราก็ไม่มั่นใจว่าจะเกิดวิกฤตอะไรขึ้นอีก แต่ถึงจะมีอะไรก็แล้วแต่ถ้าเรามีความเป็นอยู่ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วยเหลือตนเองได้เราสามารถที่อยู่ได้ อย่างมั่นคง ไม่จำเป็นพึ่งพาโลกภายนอก เราต้องเตรียมพร้อมให้กับครอบครัว ชุมชนปลูกผัก สร้างแหล่งเรียนรู้ พื้นที่สาธารณะ ให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด ฉะนั้นการสร้างเศรษฐกิจพอเพียงหรือแนวทางชุมชนเราน่าจะเป็นคำตอบโจทย์ช่วงวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและเราน่าจะอยู่ได้อย่างมั่นคงได้ในที่สุดปลัด อบต.สำโรงตาเจ็นเอ่ย

“วอแก้ว”  รับมือ 2 วิกฤต ด้วยเกษตรแบบยั่งยืน

แม้จะไม่ได้อยู่ในระดับพื้นที่สีแดงมีการแพร่ระบาด แต่เทศบาลตำบลวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเรื่องอาหารอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก นอกจากมาตรการป้องกันในการบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้ง4ฝ่าย ทำให้พื้นที่สามารถปลอดจากผู้ติดเชื้อ ยังถือเป็นความโชคดีที่ชาววอแก้วมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต มาสู่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างรวดเร็วก่อนหน้า

ย้อนกลับไป 4-5 ปี ก่อนหน้า ชาวบ้านเทศบาลตำบลวอแก้ว ทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจอย่าง ข้าวโพดที่ใช้สำหรับทำอาหารสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย แน่นอนว่าหนีไม่พ้นการใช้สารเคมีรุนแรง

จุดเปลี่ยนสำคัญในพื้นที่ ที่นำมาสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของชาวบ้าน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2558 หลังในพื้นที่ได้มีการเจาะเลือดเกษตรกร และชาวบ้านในพื้นที่  ผลปรากฎว่าผลเลือดที่มีสารเคมีสะสมในร่างกายมากถึง70% และเริ่มมีผลต่อสุขภาพของคนในหมู่บ้าน หลายคนเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ

“สถานการณ์ในช่วงเวลานั้น สร้างความวิตกให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมากถึงภัยอันตรายของการทำเกษตรเชิงเดี่ยว” สายัณห์ ฉัตรแก้ว  หัวหน้าสำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว กล่าว

เพื่อสนับสนุนประชาชนมีสุขภาพดี เทศบาลจึงร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตร มาเป็นเกษตรแบบอินทรีย์ เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีเกษตรอินทรีย์ กระจายไปทุกหมู่บ้านทั้ง 7 หมู่บ้าน  สนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน เมื่อชาวบ้านเริ่มปรับเปลี่ยนหันมาปลูกพืชผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ  ได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพ สารเคมีสะสมในร่างกายลดน้อยลง และมีความมั่นคงทางอาหาร สามารถลดการพึ่งพาแหล่งอาหารจากข้างนอกที่ส่วนใหญ่ใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากน้อยลง

“ชาวบ้านบางครอบครัวมีที่ดิน10 ไร่ แบ่งเป็นปลูกข้าวโพด 5 ไร่ และอีก5ไร่ เขาปลูกพืชผักทำเกษตรผสมผสานเพื่อไว้สำหรับเป็นอาหารในครัวเรือน ค่อยๆปรับ เรียนรู้ ผ่านต้นแบบหรือคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะต้องยอมรับว่าการจะพูดให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงมาเป็นการทำเกษตรปลอดภัยนั้นยาก แต่หากมีต้นแบบให้เขาได้เห็นที่เป็นรูปธรรมทีชัดเจน และมีข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งทางเราได้มีการทำงานเก็บข้อมูล สถิติเปรียบเทียบการทำเกษตรแบบเชิงเดียวมาไว้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จนเขาเห็นผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ค่าใช้จ่ายปุ๋ยยาสารเคมีจำนวนมาก สิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งเราก็ตั้งเป้าทีจะทำงานต่อเนื่องขยายไปเรื่อยๆในพื้นที่ขณะนี้เรียกว่ามากกว่า 60%ในพื้นที่แล้ว เพื่อพลิกฟื้นการเกษตรสารเคมีให้เป็นแปลงเกษตรรักษาสุขภาพ ” หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลวอแก้ว อธิบายถึงการดำเนินการในพื้นที่

เมื่อมาเจอสถานการณ์ปัญหาไวรัสโควิด-19  พวกเขาจึงมีต้นทุนทางอาหารเป็นพื้นฐานในครัวเรือนและสามารถมีชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน เมื่อเทียบกับอีกหลายๆพื้นที่ในประเทศ ที่สำคัญยังจุดประกายคนรุ่นใหม่ หลายคนกลับมาบ้านในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19  ได้สัมผัสชีวิตที่มีหลังพิง มีอาหารการกินที่ปลอดภัย จึงเลือกที่จะปักหลักอยู่บ้านกลับมารับช่วงทำเกษตรอินทรีย์ของพ่อแม่ เพราะมองมั่นคงกว่ากลับไปทำงานในเมืองใหญ่ ที่ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อไหร่ 

“ผมคิดว่าบทเรียนจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 และบทเรียนจากการเผชิญสถานการณ์ภัยสารเคมีเมื่อหลายปีก่อน 2 วิกฤตนี้ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ตระหนักและได้บทเรียนสำคัญในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในครอบครัว และหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน โดยชาวบ้านบอกว่า การทำเกษตรอินทรีย์มันไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว แต่มันทางรอดสำหรับเขาทั้งสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ ขณะเดียวกันในส่วนของท้องถิ่น เราพร้อมที่จะเดินหน้าขยายผลเพิ่มพื้นที่เกษตรปลอดสารเคมีให้เพิ่มขึ้นทุกปีต่อไป” สายัณห์เอ่ย

สุขภาพ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต อาหาร และประชาธิปไตย ต้องไปด้วยกัน

หลายปีก่อนหน้านี้ ได้มีการตรวจสารเคมีในกระแสเลือดของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก พบว่า 80% ของประชาชนที่เข้ารับการสุ่มตรวจมีสารเคมีสะสม รวมถึงกลุ่มอื่นๆด้วยที่ไม่ใช่เกษตรกรโดยตรง เช่น นักเรียน เด็ก พระ ผู้สูงอายุ ก็มีสารเคมีสะสมในร่างกายเช่นเดียวกันทั้งที่กลุ่ม ๆ นี้เรียกได้ว่าไม่ได้สัมผัสสารเคมีโดยตรง ใช่แล้ว แต่พวกเขาได้รับทางอ้อมนั้นคือการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี

ณัฐวุฒิ ใจดี รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า เทศบาลตำบลไทรย้อย ทำงานภายใต้นโยบายหลัก 5 ด้าน นั้นคือ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต อาหาร และประชาธิปไตย  ต้องไปด้วยกัน โดยความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของการทำงานในพื้นที่ 

“ทั้งนี้ทางเทศบาลได้มีการดำเนินการสร้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โดยมีพื้นทีกว่า50 ไร่ในพื้นที่หมู่ที่ 9 มีแปลงสาธิตการเกษตร โดยการทำงานเทศบาลจะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุเป็นผู้เข้ามาถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำเกษตรดั้งเดิมที่ปลอดสารเคมี หรือการทำนาแบบดั้งเดิมให้กับคนในพื้นที่”

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พื้นที่ตำบลไทรย้อยพบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในอำเภอเดียวกันมีผู้ติดเชื้อ เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ในพื้นที่ได้มีนโยบายและมาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันยังขับเคลื่อนในประเด็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและเรื่องสุขภาพ ผ่านกองทุนสุขภาพ ภายใต้การทำงานของ รพ.สต.และภาคีเครือข่ายในพื้นที่

โดยผลผลิตจากศูนย์เรียนรู้ฯ เช่น ข้าวสารปลอดสารพิษ  ที่ได้มาจะส่งต่อไปยังองค์กรพัฒนาผู้สูงอายุ และองค์กรผู้พิการ ซึ่งจะมีกิจกรรมเยี่ยมบ้าน ไปแจกจ่ายผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ยังนำผลิตผลที่ได้จากตรงนี้ไปช่วยในงานบุญ หรือ งานศพ รวมถึงยังมีโครงการปลูกผักหน้าบ้านหลังบ้าน โดยจะมีการประกาศนำร่องผู้สนใจเบื้องต้น30ครัวเรือน ปัจจุบันพื้นที่มีการขยายผลประมาณ 1,700 ครัวเรือน

“เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ไทรย้อยจึงแทบจะไม่ได้รับผลกระทบ หรือความเดือดร้อนมากนัก เพราะมีฐานความมั่นคงทางอาหารอยู่แล้ว แต่เพื่อสร้างการเรียนรู้และช่วยกันไปขยายการเรียนรู้ ไทรย้อย จะทำงานสร้างคนรุ่นใหม่ โดยมีคนรุ่นเก่ามาปลูกฝังทำระบบเกษตรกรรมให้เปลี่ยนมาเป็นเดินตามแนวทางศาสตร์พระราชา สร้างปรับพื้นที่เกษตรกรรมให้มีความหลากหลายต่อไป” รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อยกล่าว

 

สร้างอาหารเป็น เมื่อวิกฤตมาจะไม่ลำบาก

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส.และรักษาการผู้อำนวยการสำนัก 3 กล่าวว่าประเทศไทยถือว่ามีชุมชนเป็นฐานที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แม้ขณะนี้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่จะไม่ได้ดำเนินการเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารทั่วประเทศ แต่ก็ถือว่ามีการขยายและเดินหน้าทำเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่องผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ยิ่งในสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ

ทักษะชีวิตใหม่ ต้องสร้างอาหารเป็น เมื่อวิกฤตมาจะไม่ลำบาก เรามีพื้นที่เกษตรมีต้นทุนอยู่แล้ว ฉะนั้นทั้ง 3 พื้นที่ เป็นแบบที่ทำให้เห็นภาพชัดเจน ที่เน้นครัวเรือนทำอาหารผลิตเอง กินเอง เน้นให้ชุมชนมีพื้นทีสร้างอาหารเพื่อเติมส่วนขาดในครอบครัว และตำบลมีหน้าที่กระตุ้น มีการสร้างศูนย์เรียนรู้เต็มพื้นที่ เพื่อที่จะทำเรื่องความมั่นคงทางอาหารไปพร้อมกับการค้นหาความรู้จากการได้ปฏิบัติ  นอกจากนี้ทั้ง 3 พื้นที่มีสิ่งทีเหมือนกันคือ เป้าหมายตำบลชัดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทุกภาคส่วนเลยร่วมกันขับเคลื่อนพุ่งเป้าไปตรงนั้นเป็นตัวเสริมที่ทำให้ 3 พื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหารและสามารถสร้างเศรษฐกิจได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 แม้ว่ารายได้ จะไม่เท่าเดิมแต่ก็มีทางออกในการหารายได้ และพึ่งพาตนเองได้อย่างไม่ลำบากรักษาการผู้อำนวยการสำนัก 3 กล่าวทิ้งท้าย




July 01, 2020 at 01:45PM
https://ift.tt/3dOG3WS

ทักษะชีวิตวิถีใหม่ ชุมชนไทยต้อง “สร้างอาหารเป็น” - กรุงเทพธุรกิจ

https://ift.tt/3f6hMg0


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ทักษะชีวิตวิถีใหม่ ชุมชนไทยต้อง “สร้างอาหารเป็น” - กรุงเทพธุรกิจ"

Post a Comment

Powered by Blogger.