Search

ส่องเทรนด์ “แพลนต์เบสด์” เนื้อจากพืช แพงกว่าหมู แต่มาแรง แซงทางโค้ง! - ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  แพลนต์เบส ฟู้ด (Plant-Based Food) หรือ โปรตีนจากพืช กำลังดิสทรัปเนื้อสัตว์ เพราะลักษณะ รสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัส ให้ความรู้สึกเหมือนจริงที่สุด นับเป็นเมกะเทรนด์อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ซึ่งทั่วโลกมีแนวโน้มบริโภคแพลนต์เบสด์เพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนให้ความสำคัญเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น 

อุตสาหกรรมอาหารเมืองไทยเดินเกมรุกตลาดแพลนต์เบสกันคึกคัก ที่เป็นกระแสล่าสุดคงหนีไม่พ้นกรณีพรีเซ็นเตอร์หนุ่มคนดัง อัพไอจีโฆษณา ชวนกินหมูจากพืช เพราะหมูแพงราคาพุ่งกว่า 200 ต่อกิโลฯ ทว่า ตรรกะย้อนแย้งเพราะในความเป็นจริง หมูจากพืช หรืออาหารแพลนต์เบสนั้นมีราคาแพงกว่าคือเฉลี่ยอยู่ที่ 400 - 500 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่งผลทำให้ทัวร์ลงอย่างหนัก เพราะผู้บริโภคมองว่าเป็นการโปรโมทสินค้า ที่ซ้ำเติมความทุกข์ร้อนในยามนี้

อย่างไรก็ดี ถ้าละสายตาจากกรณีดรามาดังกล่าว คงต้องยอามรับว่า “ผลิตภัณฑ์ Plant-Based Food” กำลังมาแรงในธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า หลายบริษัทกระโดดเข้ามาร่วมวงอย่างคึกคัก

เริ่มจาก “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)” หรือ CPF  ที่ต้องใช้คำว่า น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง โดยแบรนด์  “MEAT ZER0”  ของ CPF วางจำหน่ายในระดับราคาที่ใกล้เคียงกับอาหารจากเนื้อสัตว์ปกติ มีทั้งรูปแบบอาหารพร้อมรับประทาน เช่น โบโลน่าจากพืช เบอร์เกอร์หมูจากพืช ข้าวกระเพราเนื้อจากพืช สปาเก็ตตี้เนื้อสับ ราคา 35 - 45 บาท และในรูปแบบอาหารพร้อมปรุง อาทิ นักเกตไก่จากพืช เนื้อบดจากพืช และหมูกรอบจากพืช ราคา 69 บาท อีกทั้ง ช่องทางการจัดจำหน่ายเข้าถึงผู้บริโภคโดยง่าย

เช่นเดียวกับ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลกอย่าง  “บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก ที่ปั้นแบรนด์ “OMG Meat”  ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารทะเลที่ผลิตจากพืช (Plant-based meat and seafood) มีทั้งรูปแบบอาหารทะเลจากพืช ได้แก่ หอยจ๊อปู ขนมจีบปู เนื้อปู นักเก็ต และรูปแบบไม่ใช่อาหารทะเล อย่างเนื้อหมู ไก่ จากพืช ได้แก่ ซาลาเปาหมูแดง และนักเก็ตไก่ ในราคา 70 - 150 บาท

 ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ  ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรมของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่าตลาด Plant-based ทั่วโลกมีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในมูลค่าดังกล่าวมีเนื้อที่ทำเลียนแบบอาหารทะเลเพียง 0.1% แต่ในตลาดเนื้อสัตว์ปกติจะมีสัดส่วนอาหารทะเลอยู่ 10 % ดังนั้น Plant-based ที่เทียบเคียงกับอาหารทะเล อนาคตน่าจะมีดีมานด์ใกล้เคียงกันซึ่งเป็นโอกาสของไทยยูเนี่ยน
ขณะที่  “บริษัท สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป จำกัด” ผู้นำเข้าและส่งออกอาหารแช่แข็งระดับพรีเมี่ยม รุกตลาดอาหารทะเลกับเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช (Frozen plant-based food) ภายใต้แบรนด์  “Meatoo”  ออกผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส อาทิ หมูกรอบ (ไร้หมู), ปลาเค็ม (ไร้ปลา), ลูกชิ้นกุ้ง (ไร้กุ้ง) ฯลฯ

 ชัยพัฒน์ คุณาภิวัฒน์กุล  ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทย ฟู้ดดีฮับ (FoodDeeHub) ภายใต้กลุ่มบริษัท สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่าแพลนต์เบสหรือนวัตกรรมอาหารที่ให้โปรตีนจากพืช เกิดขึ้นมาในประเทศไทยได้ราว 2 ปี แต่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มคนรักสุขภาพ ผู้ทานมังสวิรัติ (Vegetarians) กลุ่มผู้ทานอาหารวีแกน (Vegans) และผู้คนที่ทั่วไปที่ต้องการลดการทานเนื้อสัตว์ในบางโอกาส (Flexitarians) ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ต้องการการใส่ใจดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ

อีกทั้งยังถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตที่สูง โดยมีปัจจัยบวกจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ และมีผู้ประกอบการเข้ามาทำตลาดนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลดีกับผู้บริโภคที่จะได้มีกลุ่มอาหารที่หลากหลายให้ได้เลือกรับรับประทาน

นอกจากนี้ยังมี   “คาร์กิลล์”  บริษัทผู้นำด้านอาหารและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปิดตัวแบรนด์   “PlantEver”  ออกผลิตภัณฑ์ตัวแรกออกสู่ตลาด คือนักเก็ตทางเลือกจากพืช สูตรแป้งเทมปุระ รวมทั้ง เตรียมเสิร์ฟเมนูแพลนต์เบสอื่นๆ ออกทำตลาดต่อเนื่อง

รวมทั้ง “เนสท์เล่” บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลก ซึ่งขยับเข้ามาเล่นในตลาดแพลนต์เบส ส่งแบรนด์  “Harvest Gourmet”  ออกผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช อาทิ เนื้อเบอร์เกอร์ เนื้อบดละเอียด ไก่ย่างรมควัน ไก่ชุบเกล็ดขนมปัง และมีตบอล

 เครือวัลย์ วรุณไพจิตร ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร และ เนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า เปิดเผยว่าผู้บริโภคคนไทยในปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับเทรนด์การรักสุขภาพมากขึ้นด้วยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะเรียกรวมว่า Flexitarian มีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มคนรักสุขภาพ (65%) และกลุ่มควบคุมน้ำหนัก (20%) โดย 1 ใน 4 ของประชากรไทยในวันนี้เป็น Flexitarian ซึ่งยังคงมีความต้องการในการทานเนื้อสัตว์อยู่ แต่ในหนึ่งสัปดาห์อาจจะอยากลดการบริโภคเนื้อสัตว์และหันมาทานเนื้อจากพืชลงที่ประมาณ 1-2 วัน แต่ก็ยังคงมีความต้องการจะได้บริโภคเนื้อจากพืชที่มีความอร่อยอยู่

การพัฒนาสินค้ากลุ่ม Plant-based เข้าสู่ตลาดของเนสท์เล่ เพื่อเป็นทางเลือกอาหารด้านสุขภาพที่มีรสชาติที่ดี ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และถูกปากผู้บริโภคคนไทย ส่งต่อรสชาติที่อร่อยเหมือนเนื้อสัตว์ นอกเหนือจากมุมมองเรื่องคุณค่าสารอาหารทางโภชนาการที่ดี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าตลาดแพลนต์เบสในประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567 เติบโตได้เฉลี่ยถึงปีละ 10% ซึ่งโปรตีนจากพืชตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ดีต่อสวัสดิภาพสัตว์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นับเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และอัตรากำไร

ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช (Plant-based Food) เป็นอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ กำลังเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคที่รักการดูแลสุขภาพ และผู้รับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) หรือผู้ที่ทานเนื้อสัตว์ได้เป็นครั้งคราว และนวัตกรรมด้าน FoodTech ที่ก้าวหน้าทำให้อาหารมีความหลากหลาย รวมถึง บทเรียนจากโควิด-19 ที่มีผลต่อด้าน Food Security ส่งผลให้แพลนต์เบสฟู้ดมีความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมอาหารของโลกมากขึ้น

“กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่ม Plant-based Food ที่มีโอกาสเติบโตในไทย คือ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Meat) อาหารปรุงสำเร็จจากพืช (Plant-based Meal) และไข่จากพืช (Plant-based Egg) ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร โดยผู้ผลิตอาหารที่น่าจะมองหาโอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการในธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ รวมทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปทั้งแบบพร้อมปรุงและพร้อมทาน” ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าว

อย่างไรก็ดี แพลนต์เบส ฟู้ด (Plant-Based Food) ไม่เพียงตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ลดบริโภคเนื้อสัตว์ลดการทารุณกรรมสัตว์ แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ให้ทำคนทั่วโลกหันมาบริโภคเนื้อจากพืช

 แดน ปฐมวาณิชย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้ผลิตและส่งออกอาหารและเครื่องปรุงรสชั้นนำ ประเมินว่า Plant-Based Food เป็นตลาดที่ใหญ่มากและเติบโตเร็วมาก ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ค่อนข้างสูง ยกตัวอย่าง ประเมินจากแฮมเบอร์เกอร์จากเนื้อวัวหนึ่งชิ้น มีส่วนในการปลอ่ยคารร์บอนราว 3.3 กิโลคาร์บอน ในขณะที่แฮมเบอร์เกอร์ที่ทำจากแพลนท์เบส จะปล่อยคาร์บอนเพียง ครึ่งกิโลคาร์บอนต่อชิ้น ซึ่งตลอดอาหารแพลนท์เบสฟู้ดในสหรัฐอเมริกากินส่วนแบ่งตลาดของเนื้อสัตว์แล้ว 3.6% และภายใน 10 ปีนี้ จะสามารถขยับขึ้นเป็น 10-15%

ขณะที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเปิดเผยประเด็นโลกร้อนเกิดจากมนุษย์ และหากไม่รีบแก้ระบบการผลิตอาหารจะล่มสลายภายในปี 2070 - 2080 ทำให้สหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง เพื่อปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสีเขียว

 หมายความว่าอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารไทยต้องปรับตัว ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องผลักดันให้ไทยหันมาผลิตอย่างยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนฯ น้อยลง เป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลก 

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ส่องเทรนด์ “แพลนต์เบสด์” เนื้อจากพืช แพงกว่าหมู แต่มาแรง แซงทางโค้ง! - ผู้จัดการออนไลน์ )
https://ift.tt/3zZgRd1
มังสวิรัติ

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ส่องเทรนด์ “แพลนต์เบสด์” เนื้อจากพืช แพงกว่าหมู แต่มาแรง แซงทางโค้ง! - ผู้จัดการออนไลน์"

Post a Comment

Powered by Blogger.