Search

การกินยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ-โลก เช็กลิสต์เมนูอร่อยปีฉลู สู่เทรนด์ฟู้ดฟิวเจอร์ 2565 - มติชน

ยังคงต้องขอยกประโยคที่ว่า “เรื่องกินเรื่องใหญ่” มาอธิบายพฤติกรรมการกินของคนไทย เพราะแม้แต่ประโยคทักทายบ้านเรา หลายๆ คนยังใช้ “กินข้าวหรือยัง” แทนคำว่า “สวัสดี” ได้ด้วย (ฮา)

ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้แปลกใจนัก เพราะประเทศไทยนั้นได้ชื่อว่าเป็น “ครัวโลก” ของอร่อยเยอะ เดินไปตรอกซอกซอยไหนก็มีร้านเด็ดให้ได้ตามรอยไปกินอยู่เสมอ แถมยังรุ่มรวยไปด้วยกลิ่นอายและรสชาติของวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ไม่ใช่แค่ถูกปากคนไทยเท่านั้น ยังถูกปากนักท่องเที่ยวในระดับโลกด้วย

ในโอกาสที่ต้องโบกมือลาปีฉลู 2564 ก้าวสู่การเริ่มต้นปีขาล 2565 นี้ วงการความอร่อยก็คงไม่พลาดที่จะต้องสรุป “เทรนด์อาหารยอดนิยม” ในรอบปีที่ผ่านมาและส่องเทรนด์อาหารที่มีแนวโน้มจะเติบโตในปีต่อไป

เริ่มต้นกันที่ภาพรวมเทรนด์อาหารที่น่าสนใจในปี 2564 ซึ่ง “เทรนด์อาหารสุขภาพ” ก็ยังมาแรงไม่มีแผ่ว ด้วยต้องใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใส่สุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความพยายามลดน้ำตาล ด้วยโควิดทำให้เคลื่อนไหวน้อยลงและมีภาวะเครียด ผลิตภัณฑ์ที่ “หวานน้อย” “น้ำตาลน้อย” หรือ “ไม่มีน้ำตาล” ตลอดจนใช้สารทดแทนความหวานได้รับความนิยมมากขึ้น

ประกอบกับเทรนด์ Tailored-to-Fit Food หรืออาหารสุขภาพที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนแต่ละกลุ่ม อาทิ ผู้ต้องการควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก, ดูแลเรื่องโภชนาการ, ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ, กินตามกรุ๊ปเลือด ไปจนถึงกลุ่มของผู้สูงอายุ ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน

ขณะที่เสน่ห์ “อาหารริมทาง” หรือ “สตรีทฟู้ด” (Street Food) ก็ยังคงโดดเด่น หลายๆ ร้านแม้ไม่ได้ตกแต่งร้านสวยงาม แต่มีรสชาติและเอกลักษณ์ที่มัดใจก็กลายเป็นดาวดวงใหม่ แลนมาร์คที่ชาวฟู้ดดี้ต้องไปเช็กอิน

ปิดท้ายด้วย “อาหารจากพืช” (Plant-Based Food) อีกหนึ่งทางเลือกสุขภาพที่มาแร๊ง แต่อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมมากในไทย ทว่าในสหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีอัตราการเติบโตสูงมาก เพราะผู้บริโภคเลี่ยงทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มามากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในรอบปี 2564 นี้ ประเภทอาหารที่ฮอตฮิตติดกระแส กลายเป็นเทรนด์ที่ชาวโซเชียลไม่อยากพลาด ก็มีมากมาย เชื่อว่าชาวฟู้ดเลิฟเวอร์หลายๆ คนต้องรู้จัก ชวนมาเช็กลิสต์เมนูอร่อยอินเทรนด์ ปี 2564 ดังนี้

1.ผักกรอบ ของทานเล่นที่ขบเคี้ยวจนฟันแทบแตกแต่แซ่บหลาย เรียกว่าเป็นเมนูฮิตของแม่ค้าออนไลน์ ที่มีหลายเจ้าเปิดครัวทำเองขายเอง กรรมวิธีคือนำผักผลไม้ไปผ่านกระบวนการแปรรูปให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง (Freeze Dry) หรือทอดแบบสุญญากาศ เพื่อรีดน้ำออก จนได้ผักที่แห้ง กรอบ คล้ายกับขนมกรุบกรอบ แน่นอนว่าชวนให้กินเพลิน ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมีชนิดผักกรอบที่คละได้คล้ายๆ กัน อาทิ ขนุน กระเจี๊ยบเขียว กล้วย มันฝรั่ง บีตรูต และพุทรา เป็นต้น

ทว่าแม้จะทำมาจากผักก็ไม่ควรกินมากเกินไปในแต่ละวันเพราะอาจจะได้รับพลังงานสูง และไม่ควรกินผักกรอบทดแทนผักผลไม้สด ด้วยให้คุณค่าทางโภชนาการไม่เหมือนกัน ตลอดจนควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย

2.พริกทอด ใครจะคิดเล่าว่าวันหนึ่งเราจะกินพริกเป็นของทานเล่น แต่ก็เป็นจริงแล้วเมื่อกระแสพริกทอดนั้นมาแรง สายกินเผ็ดอาจจะโดนใจ แต่สายไม่กินเผ็ดอาจจะมีลังเลเล็กน้อย ซึ่งต้องบอกว่าความเผ็ดไม่เผ็ดนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการทำของแต่ละเจ้าด้วย บางแห่งยังคงมีรสเผ็ดร้อนอยู่บ้าง แต่บางแห่งก็ทำรสชาติได้ไม่เผ็ดก็มี

ทั้งนี้จากความนิยมที่มาแรงก็ทำให้หลายๆ เจ้าเริ่มพัฒนาสูตร ใส่งา เพิ่มรสชาติที่หลากหลาย อาทิ รสสาหร่าย รสหม่าล่า รสวาซาบิ รสบาร์บีคิว เป็นต้น เป็นสิ่งที่สะท้อนได้อย่างดีว่าพริกทอดกลายเป็นของทานเล่นไปแล้ว ขณะที่หลายๆ คนก็ชอบที่จะเอาโรยข้าวทาน อย่างไรก็ตามไม่ควรบริโภคต่อวันในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะเสียดท้องได้

3.ไอศกรีมโคนทุบ อ่านแล้วก็อาจจะถามย้ำว่าเป็นเทรนด์ด้วยหรือ จริงๆ เทรนด์นี้โด่งดังมาจากแอพพ์ฮิตอย่างติ๊กต็อก ที่จุดกระแสจากการไปซื้อไอศกรีมโคนมาหลายๆ โคน แล้วนำใส่ถ้วยใบใหญ่ จากนั้นใช้ช้อนทุบๆ แล้วตักกิน จะได้รสชาติของไอศกรีมที่หวานและเย็น ตัดกับรสสัมผัสกรอบๆ ของ เวเฟอร์ซึ่งก็คือโคนของไอศกรีม

ส่วนจะแตกต่างจากกินไอศกรีมโคนไม่ทุบอย่างไรนั้น คาดว่าสิ่งที่ทำให้เทรนด์นี้กลายเป็นที่นิยมคงไม่ใช่เรื่องรสชาติ แต่เป็นการกินง่ายและสามารถกินพร้อมกันได้หลายๆ คน ยิ่งอร่อย

ไอศกรีมโคนทุบ (ภาพจากติ๊กต็อก @icedessertdiary)

4.ลูกชิ้นยืนกิน ของเด็ดเมืองบุรีรัมย์ ลูกชิ้นไส้กรอกรวมทอดในกระทะใบใหญ่ ที่หลายๆ คนคุ้นตา มีขายทั่วประเทศ แต่ทำไมต้อง “ยืนกิน” และ “บุรีรัมย์” นั้น เป็นเพราะ “ลิซ่า” สาวไทยที่บินไปเดบิวต์เป็นไอดอลเมมเบอร์วง Blackpink ซึ่งความโด่งดังนั้นไปไกลในระดับโลก ได้ให้สัมภาษณ์ว่าอาหารโปรดของเธอ คือ ลูกชิ้นยืนกินที่มีน้ำจิ้มรสเด็ด เป็นน้ำจิ้มพริกเผา หลังสถานีรถไฟบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ ที่แม่เคยพาไปกินตอนเด็ก

หลังจากนั้นก็ บู้ม! กลายเป็นความนิยมชั่วข้ามคืน ขายดีจนขายไม่ทัน จากประสบการณ์ของคนในพื้นที่ระบุว่า ลูกชิ้นเจ้านี้ เด่นเรื่องแป้งน้อย ทำให้เนื้อแน่น

ส่วนทีเด็ดคือน้ำจิ้มที่เผ็ดหวานกำลังดี หอมพริกเผา ไม่เหมือนใคร ซึ่งถามว่าฮิตแค่ไหนทางจ.บุรีรัมย์ถึงกับใช้โอกาสนี้จัดเทศกาลลูกชิ้นยืนกินเลยทีเดียว ขณะที่ร้านรวงในกรุงเทพฯ ก็ออร์เดอร์มาเป็นหนึ่งเมนูในร้านเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้า ไม่ต้องเดินทางไกลถึงบุรีรัมย์ก็กินได้

เรียกว่าเป็นโอกาสทางอาชีพที่ดีในช่วงเศรษฐกิจยุคโควิด-19นี้ และไม่แน่ว่าอาจจะเห็นป้าย “ลูกชิ้นยืนกิน” ทั่วไทย เช่นเดียวกับแฟรนไชส์ ไก่ย่างวิเชียรบุรี และไก่ทอดหาดใหญ่ ก็เป็นได้ (ฮา)

5.ทัลโกนา “มูกุงฮวา โก๊ชีพีออด ซึมนีดะ…” ถ้าใครอ่านคำนี้แล้วร้องได้เป็นเพลง แสดงว่าไม่ตกเทรนด์กับซีรีส์ดังแห่งยุคอย่าง Squid Game ที่ฮอตฮิตไปทั่วโลก แม้แต่ดาราฮอลลีวู้ดก็ติดงอมแงม เนื้อหาคร่าวๆ ก็คือการเล่นเกมเพื่อเอาชีวิตรอดชิงเงินรางวัลหลายหมื่นล้านวอน ซึ่งแต่ละเกมนั้นผู้เขียนบทได้ดัดแปลงมาจากการละเล่นพื้นบ้านของเกาหลี โดยหนึ่งในเกมได้ใช้ ขนมหวานพื้นบ้านอย่าง “ทัลโกนา” มาใช้ตัดสิน ต้องแกะขนมเป็นรูปต่างๆ ให้ได้โดยไม่ให้ขนมแตกหักเสียก่อน

ซึ่งความน่าสนใจก็คือที่เกาหลี ขนมทัลโกนา นั้นขายมาตั้งแต่ปี 2000 ความนิยมก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจนแทบจะหายไป ทว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้ปลุกให้มันกลับมาชีวิตอีกครั้ง พ่อค้าดัลโกนาเล่าว่าหลังซีรีส์ออกฉายยอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัว และมีคนรุ่นใหม่หันมาทำความรู้จักกับขนมทัลโกนามากขึ้น

ขณะมราในประเทศไทยก็มีเหล่ายูทูบเบอร์ ตลอดจนคอซีรีส์ได้ทดลองทำขนมดัลโกนาและแกะสลักเองเพื่อร่วมชาเลนจ์มากมาย เพราะวิธีทำก็แสนง่าย นำน้ำตาลใส่ช้อนใหญ่ๆ หรือทัพพี เปิดไฟลนจนน้ำตาลละลาย ใส่เบคกิ้ง โซดาลงไป จะฟูขึ้น จากนั้นให้ใส่ไว้ในพิมพ์รอให้เย็น เสร็จแล้ว

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเมนูอินเทรนด์ ที่มีกระแสมานานแล้ว แต่ยังคงเป็นที่นิยมไม่มีตก อาทิ “ร้านยำสุดแซ่บ” เมนูยำทั้งหลายยังคงได้รับความนิยมสังเกตได้จากจำนวนร้านยำที่เปิดใหม่อยู่เรื่อยๆ หรือจะเป็น “เมนูทะเลดอง” ทั้งดองซีอิ๊ว ดองน้ำปลา ฯลฯ ก็กำลังเป็นเมนูที่มาแรง ทายาทสายตรงจากกระแสฮิตกินปูดอง จึงเพิ่มสาขาหลากหลายไม่ว่าจะเป็น แซลมอนดอง กุ้งดอง ทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ด ห่อด้วยสาหร่ายแผ่น โออิชิ! แบบเต็มคำ

อีกหนึ่งเทรนด์ฮิตก็ต้องยกให้ “เมนูชีส” ยื๊ดยืด ที่นำไปฟิวชั่นกับทั้งอาหารคาวและหวาน แข่งขันกันที่รสชาติและไอเดียแปลกใหม่, นอกจากชาบู หมูกระทะ “ย่างเนย” ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบบุฟเฟต์ที่มาแรง โดยเฉพาะเมนูที่แกะกุ้ง เทไข่ ตามด้วยเนยและชีส ฉ่ำๆ

ต่อด้วย “มาม่าเกาหลี” ทานคู่กับกิมจิ เลือกผสมรสมาม่าได้ตามใจ ซึ่งแต่ละสูตรก็มีชื่อเรียกต่างกัน อย่างเช่นเมนูเด็ดจากภาพยนตร์เรื่อง PARASITE กับเมนูจาปากูรี นำรามยอน 2 รสมาผสมเข้าด้วยกันก็คือ ‘จาปาเกตี้’ (Jjapaghetti) ที่มีรสหวานแบบจาจังมยอน มาผสมรวมกับ ‘นอกูรี’ (Neoguri) รามยอนรสอาหารทะเลแบบเผ็ดสไตล์เกาหลีนั่นเอง

ถัดมาคือ “เยลลี่ลูกตา” ที่มองเผินๆ อาจจะดูน่ากลัวไปหน่อย แต่ฮิตมากในกลุ่มเด็กๆ รสชาติแนวฟรุ้ตตี้เหมือนเยลลี่ทั่วไป ข้างในสอดไส้เปรี้ยวๆ ซึ่งเวลาซื้อต้องเช็กให้ดีๆ เพราะมีของปลอมเยอะมาก และ “ปลาร้าออนไลน์” บรรจุขวด ที่คนดังหลากหลายวงการถึงกับเปิดโรงงานทำจำหน่ายเอง เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่รุกวงการอาหารไทย สะท้อนว่าปลาร้าคือหนึ่งเครื่องปรุงอาหารที่เข้าถึงคนทุกบ้าน แซ่บอีหลีเด้อ

สุดท้ายนี้ อ้างอิงจากการรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่ระบุถึงเทรนด์ตลาดสินค้าอาหารสุขภาพในแคนาดา ปี 2565 สอดคล้องกับข้อมูลของ “Whole Foods Market” หรือเชนซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

ซึ่งสรุปใจความได้ว่า อาหารที่มีแนวโน้มเติบโตในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง มีสารอาหารและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย และเป็นสินค้าที่ให้คุณค่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนี้

“รสส้มยูสุ” (Yuzu) รสชาตินี้มาแน่เพราะรสชาติส้มไม่หวานมากนัก มีกลิ่นหอมเฉพาะ อีกทั้งมีวิตามินซีสูง ส้มยูสุจะกลายเป็นรสชาติที่ผู้ผลิตอาหารหลายรายเลือกมาใช้แต่งกลิ่นและรสชาติอาหารสำหรับปี 2565

ขณะที่ “ดอกชบา” (Hibiscus) ก็มีแนวโน้มได้รับความนิยมด้วยได้รับการยอมรับว่ามีคุณสมบัติที่มีประโยชน์ต่อการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วยรสชาติรสเปรี้ยวเล็กน้อย และอุดมด้วยวิตามินซี ผู้ประกอบการอาหารจึงเลือกนำมาเป็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ใส่ในชา โยเกิร์ต แยมผลไม้

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไร้แอลกอฮอล์” หรือ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0%” ผู้บริโภคกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้บริโภคมองหาเครื่องดื่มใหม่ ๆ เพื่อดื่มทดแทนเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ สำหรับกลุ่มคนที่ไม่อยากได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ แต่ยังคงได้ประสบการณ์การดื่มที่สนุก ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ

“ใบมะรุม” (Moringa) เป็นพืชกำเนิดในแถบใต้เชิงเขาหิมาลัยและในทวีปแอฟริกา โดยมะรุมเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณในหลายด้าน และผู้ประกอบการได้มีการนำมาแปรรูปแบบผงแห้ง เพื่อให้ง่ายต่อการเป็นวัตถุดิบในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มสมูทตี้ ซอส ขนมอบ โปรตีนบาร์ และอื่น ๆ

“เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมโซดาในแบบ Functional” เช่น โซดาสูตรผสมโปรไบโอติกส์ หรือน้ำโทนิคผสมพรีไบโอติกส์ โดยทั้งสองอย่างนั้น คือ จุลินทรีย์ชนิดดีที่มาแรงในวงการอาหาร โดยจัดเป็นกลุ่มอาหารที่เรียกว่าซูเปอร์ฟู้ด อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง และมีคุณประโยชน์ด้านระบบย่อยอาหารเพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสุขภาพ อย่างแท้จริง

สุดท้าย “สมุนไพรขมิ้นชัน” (Trumeric) ได้กลายเป็นสมุนไพรที่นิยมในอุตสาหกรรมยาและอาหารมาเมื่อไม่นานนี้ เนื่องด้วยมีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระอยู่ในตัวสมุนไพรที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเสื่อมของร่างกาย และยังมีสรรพคุณที่ช่วยปรับและกระตุ้นระบบย่อยอาหารในร่างกาย ผู้ประกอบการอาหารจึงเลือกนำมาเป็นเครื่องปรุงและส่วนผสมในเมนูใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประโยชน์ให้กับอาหารที่รับประทาน เช่น ซีเรียล ขมิ้น ชันสมูทตี้ กะหล่ำปลีเปรี้ยว

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( การกินยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ-โลก เช็กลิสต์เมนูอร่อยปีฉลู สู่เทรนด์ฟู้ดฟิวเจอร์ 2565 - มติชน )
https://ift.tt/3qZxGR3
อาหารสุขภาพ

Bagikan Berita Ini

0 Response to "การกินยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ-โลก เช็กลิสต์เมนูอร่อยปีฉลู สู่เทรนด์ฟู้ดฟิวเจอร์ 2565 - มติชน"

Post a Comment

Powered by Blogger.