Search

โลกเปลี่ยน กีฬาเปลี่ยน : จับกระแสเทรนด์ใหม่กีฬาโลก 2021 - เดลีนีวส์


2020 กลายเป็นปีที่โลกต้องจารึกและไม่มีวันลืมไปตลอดกาล เนื่องจากโรคระบาดโคโรนาไวรัสหรือไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้จนถึงตอนนี้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 80 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นราว 1% จากประชากรทั่วโลก 7.8 พันล้านคน มีผู้เสียชีวิตรวมเกือบ 1.8 ล้านคน แม้ยอดรวมผู้เสียชีวิตยังห่างจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 61 ล้านคนตลอดระยะเวลา 8 ปี

แต่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่านี่คือวิกฤติที่เกิดจากโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ซึ่งมันเกิดในยุคที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามนุษย์ต้องรับมือโรคระบาดที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทางเศรษฐกิจมากมายมหาศาลที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ได้มากขนาดนี้

เช่นเดียวกับแวดวงกีฬาที่ต่างตั้งรับกันแทบไม่ทันกับวิกฤติใหญ่ หลายทัวร์นาเมนต์ต้องเลื่อนหรือถึงขั้นยกเลิก เช่น เทนนิสเมเจอร์ วิมเบิลดัน หรือ กอล์ฟดิ โอเพ่น ที่ยกเลิกจัด แต่ยังมีหลายทัวร์นาเมนต์ที่ฝืนจัดกันไปต่อ ท่ามกลางข้อปฏิบัติการดูกีฬาแบบใหม่ในโลกของแห่งยุคโรคระบาด เช่น ฟุตบอลลีกต่างๆ ของยุโรป ที่แม้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่เว้นแต่ละวัน แต่ก็ยังจัดกันต่อไปแบบไม่มีคนดูหรือกำหนดผู้เข้าชม
 


สำหรับฟุตบอลยูโร 2020 และ โอลิมปิก เกมส์ 2020 เป็น 2 มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ไม่สามารถจัดได้ ถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2021

แม้วัคซีนได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นทางการ แต่ยังเชื่อว่าโรคร้ายนี้คงไม่หมดสิ้นไปทันที บางทีอาจต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าที่มนุษย์จะกลับมาใช้ชีวิตอย่างได้ปกติอีกครั้ง

ดังนั้นปี 2021 เชื่อว่าจะเป็นอีกปีที่เราต้องเผชิญหน้ากับไวรัสโควิด-19 แฟนๆ และนักกีฬาก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ เพราะอย่างน้อยปีที่ผ่านมาหลายประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ มีแต่จะทำให้โรคระบาดรุนแรงขึ้น

คำถามคือเราจะใช้ชีวิตและดูกีฬาอย่างไรให้มีความสุข?

ในไทยมีการคาดกันว่าวัคซีนโควิด-19 จะถูกฉีดให้ครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดภายในปีหน้า แม้ว่าไทยมีข้อตกลงกับแอสตราเซเนกาที่พัฒนาร่วมกับออกซ์ฟอร์ดสำหรับผลิตวัคซีน 26 ล้านโด๊ส หรือราว 20% ของประชากรทั้งหมด แต่ไทยยังอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตอื่นๆ ในการนำเข้าวัคซีนเข้ามาเพิ่มซึ่งยังไม่มีความแน่ชัด

จึงเป็นไปได้ว่าปีหน้าทั้งปีคนส่วนใหญ่ยังต้องใช้ชีวิตแบบวิถีนิวนอร์มัลกันต่อไป

กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นข้อปฏิบัติหลักที่ถ้าทำตามได้หมดก็น่าจะปลอดเชื้อได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

โอลิมปิก โตเกียว เกมส์ 2020 ถูกเลื่อนไปจัดระหว่าง 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด การแข่งขันจะมีขึ้นตามโปรแกรม เลื่อนออกไปไม่ได้อีกแล้ว ฝ่ายจัดเคยยืนยันก่อนหน้านี้ว่าถ้าจัดไม่ได้อีกก็อีกก็เห็นทีต้องยกเลิก เพราะไม่อาจแบกภาระค่าใช้จ่ายออกไปได้อีก เพราะฝ่ายจัดเผยว่าถึงตอนนี้ค่าใช้จ่ายรวมแล้วกว่า 15.9 พันล้านดอลลาร์ สูงขึ้นจากที่เคยคาดไว้ 1 ปีก่อน 2.8 พันล้านดอลลาร์
 


นี่คือโอลิมปิก เกมส์ ที่แพงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้นเชื่อว่าควรปิดประตูยกเลิกออกไปก่อน เพราะแม้มีผลสำรวจชาวญี่ปุ่นไม่นานนี้พบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากให้ยกเลิกจัด

แต่ลองถามใจคุณเอง ถ้าคุณเป็นเจ้าภาพที่ลงทุนไปขนาดนี้แล้ว คุณจะยกเลิกโดยที่ไม่ได้อะไรตอบแทนกลับมาเลยหรือไม่? คิดว่าส่วนน้อยที่จะยอมยกเลิก

ดูอย่างฟุตบอลที่หลายประเทศทั่วโลกก็ยังจัดกันไปต่อ ไม่ว่าจะลีกต่างๆ หรือถ้วยยุโรป สิ่งที่เปลี่ยนไปก็แค่ไม่มีผู้ชมในสนาม หรือบางประเทศอนุญาตให้เข้าชมได้จำนวนหนึ่ง และสิ่งสำคัญที่ไม่เปลี่ยนคือผู้จัดยังคงทำเงินได้จากการถ่ายทอดสด
 


แฟนบอลก็มีเกมดู นักเตะก็มีเงินค่าจ้าง สโมสรก็มีรายได้ เรียกว่าวินๆ กันทั้งสองฝ่าย

ถึงเป็นโอลิมปิกส์ เวอร์ชั่นที่ได้ดูแค่ทางโทรทัศน์หรือออนไลน์ มันก็ยังดีกว่าไม่เกิดขึ้นเลย

เช่นเดียวกับ ยูโร 2020 (2021) ที่เตรียมลดสนาม และเมืองเจ้าภาพ ขณะที่แฟนบอลก็อาจจะเข้าสนามไม่ได้ หรือเข้าได้แบบจำกัดเต็มที แต่มันก็ดีกว่าจะไม่เกิดขึ้นเลย

        +++++++++++++++++++++++++++++++++++

ความเป็นไปนอกสนามของวงการกีฬาโลก ในปีนี้ (2021) ก็ถือว่าน่าจับตามาก และเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ที่ความจริงเกิดขึ้นมานานแล้ว ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

อย่างแรกสุด ต่อไปโลกจะเป็นยุคไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้น ทุกอย่างง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว ไม่มีอีกแล้ว เรื่องการเข้าถึงที่ยากลำบาก ใครอยากดูอะไรก็คลิกดูได้เลย เด็กรุ่นใหม่ในเจนเนอเรชั่น Z จึงจะให้ความสนใจกับกีฬาในสนามลดลง

"อี-สปอร์ต" จึงจะก้าวเข้ามาเป็น "ตัวหลัก" ของกีฬา ธุรกิจนี้จะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตต่อไปไม่หยุด เช่นเดียวกับการแข่งขันแบบ "วิชวล" (Virtual) หรือ "VR" ซึ่งเสมือนจริง และเราสามารถเป็นได้ทั้งผู้เล่นเอง และผู้ชมที่ใกล้ชิดติดขอบสนามได้
 


เกี่ยวกับเกมในสนาม เทคโนโลยี และข้อมูลต่างๆ ก็จะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น เพราะจะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้เล่น และผลงานได้จริง จากการวิเคราะห์ด้านต่างๆ อย่างละเอียด วิทยาศาสตร์การกีฬาจึงจะเข้ามาเป็นตัวหลักสำหรับทุกองค์กรกีฬา

เกี่ยวกับตัวคนดูหรือเราเอง อันดับแรกเลย เราอาจจะเข้าสนามกันน้อยลง เพราะต่อไป เราจะดูเกมจากที่ไหนก็ได้ บวกกับโรคระบาดที่ยังทำให้หลายคนไม่ไว้ใจ ซึ่งนี่อาจไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่ลากยาวกลายเป็นเรื่องปกติ ต่อไป เราจึงอาจไม่ได้เห็นสเตเดี้ยมใหญ่ๆ กันมากนัก
 


อันดับต่อมา เทคโนโลยีจะเข้ามาหาเรามากขึ้น เราจะเอาใจใส่สุขภาพกันมากขึ้น รับรู้ข้อมูลเชิงลึกของตัวเอง วิเคราะห์ตัวเองได้เก่งขึ้น จากตัวเลขต่างๆ ที่ออกมา ส่วนเรื่องนิสัยการชมกีฬาของเราก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน เราจะไม่พึ่งพิงการถ่ายทอดสดจากทีวีอีกต่อไป แต่จะหันไปใช้บริการสตรีมมิ่งออนไลน์ ในลักษณะคล้ายกับ "เน็ตฟลิกซ์" และสามารถเลือกดูได้เท่าที่ต้องการ
 

นี่คือเรื่องที่เราต้องปรับตัว นิสัยการดูกีฬาของเราจะเปลี่ยนไปโดยที่เราไม่รู้ตัว และปี ค.ศ. 2021 เราจะเปิดกว้างมากขึ้น และอาจหันไปสนใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยคิดมาก่อน ทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่นักกีฬา, สโมสร, สื่อ หรือแม้แต่บริษัทรับพนันถูกกฎหมาย ก็ต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กันทั้งหมด

เพื่อความสุขในการดูกีฬาที่ "ง่าย" ยิ่งขึ้น?

ทีมข่าวกีฬาเดลินิวส์

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( โลกเปลี่ยน กีฬาเปลี่ยน : จับกระแสเทรนด์ใหม่กีฬาโลก 2021 - เดลีนีวส์ )
https://ift.tt/350PYag
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "โลกเปลี่ยน กีฬาเปลี่ยน : จับกระแสเทรนด์ใหม่กีฬาโลก 2021 - เดลีนีวส์"

Post a Comment

Powered by Blogger.